หน้าหลัก |► อุทยานธรณีโลกสตูล |► 1.อุทยานธรณีโลกสตูล | 1.4 อุทยานธรณีโลกสตูล |► ความเป็นมาของอุทยานธรณีโลกสตูล |
ความเป็นมาของอุทยานธรณีโลกสตูล

 

               เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัด วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ครม. มีมติเห็นชอบเสนอให้ “อุทยานธรณีสตูล”เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ตามที่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับรองให้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ เมื่อวันที่ 29  พฤศจิกายน 2559 และทางยูเนสโกได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาทำการประเมินในปี 2560 และได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopark) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 



 



             อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopark) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ในส่วนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา มีพื้นที่ครอบคลุม  2,579.2 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน ผืนดินแห่งนี้ เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า เกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในเวลานั้น ต่อมีการยกตัวของเปลือก โลกก่อเกิดเป็นเทือกเขาและถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบันผู้คนก็ยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่ และก่อให้เกิดวัฒนธรรม และประเพณีที่มีเอกลักษณ์ ด้วยความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศ และธรรมชาติของอุทยานธรณีสตูล ก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตก  ชายหาด รวมถึงเลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ชุมชน และสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย ทั้งมีความโดดเด่น ในเรื่องแหล่งซากดึกดำบรรพ์ความต่อเนื่องของชั้นหินในยุคต่าง ๆ ความสวยงามของเทือกเขาหินปูน เกาะแก่ง รวมไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอาคารเก่ารวม 28 แห่ง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ ศึกษาวิจัยประวัติพื้นที่และการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านสังคมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และด้านอนุรักษ์อย่างยั่งยืนโดยชุมชน 

 

 


ลานหินป่าพน เป็นหินปูนยุคออร์โดวิเชียน

 

                  ปลายปี 2551 ได้มีการค้นพบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ สกุลสเตโกดอน ที่อายุ 1.8 ล้านปีก่อน และฟอสซิลแรด,กวาง,เดา ภายในถ้ำวังกล้วย ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ถ้ำเลสเตโกดอน และทาง อบต. ทุ่งหว้า ได้จัดสร้างศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้าขึ้นมา เพื่อจัดแสดงเรื่องราวข้อมูลของซากดึกดำบรรพ์เพื่อเปิดเป็นแหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยว ต่อมาจังหวัดสตูลดำเนินการตามแนวทางของกรมทรัพยากรธรณี ในการจัดตั้งอุทยานธรณี ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยกำหนดพื้นที่อุทยานธรณีตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ จัดทำแผนบริหารจัดการและดำเนินการตามแผนฯ โดยได้ประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีสตูล


 

 

            (Satun Geopark) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 โดยมีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล โดยประโยชน์ของการเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก เป็นการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการท่องเที่ยวซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่นำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและประเทศ ประชากรในพื้นที่มีงานทำ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชากรในพื้นที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าได้รับการกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืนเกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษา วิจัยของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย



 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ