10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญไทย
ประวัติความเป็นมา
สำหรับในประเทศไทย วันรัฐธรรมนูญตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย
โดยผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน ลักษณะสำคัญคือ ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจาก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริการราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาล ก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐ ซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดมิได้
สำหรับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นวันชาติในขณะนั้น โดยความประสงค์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งการปกครองในยุคนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันในระยะต่อมาว่ามิได้เป็นวิธีการในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
สาเหตุ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย ด้วยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก และสร้างความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ ตามมาด้วยอิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร
ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและราษฎรทั่วไป จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเด และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
- พระมหากษัตริย์
- สภาผู้แทนราษฎร
- คณะกรรมการราษฎร
- ศาล
ลักษณะการปกครอง ถึงแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 19 ฉบับ
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามลำดับ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (27 มิถุยายน – 10 ธันวาคม 2475)
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 (10 ธันวาคม 2475 – 9 พฤษภาคม 2489) ถูกยกเลิกเพราะล้าสมัย
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (9 พฤษภาคม 2489 – 8 พฤศจิกายน 2490) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม (9 พฤศจิกายน 2490 – 23 มีนาคม 2492)
5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (23 มีนาคม 2492 – 29 พฤศจิกายน 2494) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร
6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 (8 มีนาคม 2495 – 20 ตุลาคม 2501) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ
7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 (28 มกราคม 2502 – 20 มิถุนายน 2511)
8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (20 มิถุนายน 2511 – 17 พฤศจิกายน 2514) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ
9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 (25 ธันวาคม 2515 – 7 ตุลาคม 2517)
10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 (7 ตุลาคม 2517 – 6 ตุลาคม 2519) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 (22 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520)
12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 (9 พฤศจิกายน 2520 – 22 ธันวาคม 2521)
13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (22 ธันวาคม 2521 – 23 กุมภาพันธ์ 2534) ถูกยกเลิกโดยคณะ รสช.
14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 (1 มีนาคม – 9 ตุลาคม 2534)
15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 (9 ธันวาคม 2534 – 11 ตุลาคม 2540) ถูกยกเลิกหลังตรารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับประชาชน (11 ตุลาคม 2540 – 19 กันยายน 2549) ถูกยกเลิกโดยคณะ คปค.
17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 (1 ตุลาคม 2549 – 24 สิงหาคม 2550)
18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (24 สิงหาคม 2550 – 22 กรกฎาคม 2557)
19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (22 กรกฎาคม 2557-ปัจจุบัน)
เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบน อยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบ มีภาพแกะสลักลายปั้นนูน และมีรั้วเตี้ยๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา เป็นเสา คล้องโซ่เชื่อมต่อกัน
ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พานรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น และหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ)
ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก (ปากกระบอกปืนฝังลงดิน) โดยรอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475) ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ
ลายปั้นนูนที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ
ข้อมูลและภาพจาก : www.dmc.tv , www.lib.ru.ac.th , www.chiangraitimes.com , วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เข้าชม : 895
|