ยอด ร.ร.กวดวิชาโต 200% เงินสะพัด 3 หมื่นล้าน/ปี เผยเทรนด์ใหม่แห่กวด′ภาษาต่างประเทศ′ พ่อแม่ลงทุนควักกระเป๋า 2-5 หมื่นบาท/เทอม เตรียมพร้อมลูกสอบเข้า ม.1 โรงเรียนสองภาษา ปธ.สวนดุสิตโพลชี้′ภาษาไทย′วิชาม้ามืดที่นักศึกษาฮิตเรียน หลังข้อสอบมหา′′ลัยเน้นวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) เปิดเผยว่า สวนดุสิตโพลกำลังเก็บข้อมูลสำรวจทิศทางและแนวโน้มอนาคตของตลาดกวดวิชา โดยเก็บข้อมูลจากสถาบันกวดวิชาทั่วประเทศ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า การกวดวิชาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 อยู่ในระดับที่สูงเท่าเดิม จากการสอบถามพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้กวดวิชาเพราะอยากเพิ่มเติมความรู้ในส่วนที่ขาด แต่กวดวิชาเพราะอยากเข้าเรียนในคณะ/มหาวิทยาลัยที่ต้องการเท่านั้น หากนักเรียนเน้นกวดวิชาเพื่อเป้าหมายดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดปัญหาการออกกลางคันในอนาคต
"นอกจากนี้ ยังสำรวจการกวดวิชาของนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2554 พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีวิชาม้ามืดที่นิสิต นักศึกษานิยมเรียนรองจากวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ คือ วิชาภาษาไทย เพราะขณะนี้รูปแบบข้อสอบเปลี่ยนไปจากการท่องจำ เป็นเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์มากขึ้น จึงทำให้นักศึกษาตื่นตัว จากเดิมที่วางใจและคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของภาษา" นายสุขุมกล่าว
นายสุขุมกล่าวว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ยังพบมิติใหม่ในวงการกวดวิชา เมื่อผู้ปกครองนิยมส่งลูกเข้าเรียนกวดวิชาภาษาต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนสองภาษา หรือ Bi-lingual หรือโรงเรียนที่จะพัฒนาสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล ของสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยผู้ปกครองจะเริ่มส่งลูกเข้าเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยเสียค่าใช้จ่ายภาคเรียนละ 20,000-50,000 บาท
"ผู้ปกครองที่อยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จะนิยมส่งลูกไปเรียนกวดวิชาดังกล่าวมากเป็นพิเศษ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา เป็นต้น ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ส่วนภาคกลางจะกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ลูกสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าวได้ เพราะส่วนใหญ่จะสอนเป็นภาษาอังกฤษ อีกทั้ง ผู้ปกครองยังต้องการให้ลูกมีความสามารถด้านภาษาโดยที่ไม่ต้องส่งไปเรียนต่างประเทศ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงๆ เพื่อเรียนในโรงเรียนนานาชาติ" นายสุขุมกล่าว
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ช่องทางการเข้ามหาวิทยาลัยทำให้เด็กต้องสอบมากขึ้น ทั้งรับตรงผ่านโควตาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ระบบบริหารจัดการระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ นอกจากนี้ยังมีการให้ค่าน้ำหนักคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX มาเป็นองค์ประกอบในการแอดมิสชั่นส์ ดังนั้น นักเรียนจึงต้องมุ่งเรียนพิเศษทุกวิชา โดยขณะนี้พบว่า โรงเรียนกวดวิชาเจริญเติบโตจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วถึง 200% มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาสูงประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี โดยเฉลี่ยขณะนี้ นักเรียนเรียนพิเศษคนละ 7-8 วิชา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดัง ทำให้นักเรียนสอบมากขึ้น
"ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องกลับมาคิดว่า การให้เด็กสอบมากๆ มีผลดีต่อคุณภาพการศึกษาหรือไม่ และระบบการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะมีการปรับระบบย่อยทุกปี และในทุก 3 ปี จะปรับองค์ประกอบครั้งใหญ่อีก ทำให้ผู้ปกครองและเด็กเกิดความสับสน ถ้าจะแก้ปัญหานี้คงต้องแก้ที่ระบบแอดมิสชั่นส์ โดยทำให้ระบบนิ่งและต้องเพิ่มช่องทางการเข้ามหาวิทยาลัยช่องทางอื่น เช่น ใช้คะแนนกิจกรรม คะแนนความดี หรืออื่นๆ ให้มากขึ้น ไม่ใช่ใช้เฉพาะคะแนนสอบอย่างเดียว" นายสมพงษ์กล่าว
เข้าชม : 2591
|