ประเพณีและวัฒนธรรม
การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณวัตถุ – โบราณสถาน จังหวัดสตูล มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นโบราณวัตถุ – โบราณสถานไม่มากนัก แต่ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติทำเลที่ตั้งของเมืองนี้ ช่วยบ่งบอกได้ว่า บริเวณที่ตั้งเมืองนี้มีชุมชนโบราณอยู่ก่อนแล้ว จากข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือ “ก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้ ชุมพร ระนอง ตรัง สตูล” ของกรมศิลปากรจัดพิมพ์ หน้า 67- 80 และ “สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้” เล่ม 3 เล่ม 5 และผลการสำรวจของสำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 พอสรุปถึงแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ และโบราณสถานแห่งโบราณคดี ได้ดังนี้
1. แหล่งโบราณคดีเขาโต๊ะพญาวัง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อำเภอเมืองสตูล มีสภาพเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ทางด้านตะวันออกเป็นเพิงผา และมีถ้ำตื้นๆ พบเครื่องมือหิน 2 ชิ้น ทางทิศใต้ของถ้ำกลาง
วัตถุชิ้นที่ 1 เป็นเครื่องมือสะเก็ดหิน ทำจากหินปูนลักษณะเครื่องมือเป็นรูปครึ่งวงกลม ค่อนข้างบาง มีความคมที่ส่วนโค้ง ลักษณะเป็นเครื่องมือใช้งานขุด ขนาดยาว 7.59 เซนติเมตร กว้าง 5.61 เซนติเมตร หนา 1.52 เซนติเมตร
วัตถุที่ 2 เป็นสะเก็ดหินปูนรูปหลายเหลี่ยมค่อนข้างบาง มีรอยกะเทาะไม่ชัดเจนนัก มีความคมหลายด้าน อาจใช้เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งมีขนาดยาว 7.1 เซนติเมตร กว้าง 5.68 เซนติเมตรหนา 1.27 เซนติเมตร
2. แหล่งโบราณคดีเขาโต๊ะนางดำ เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า เป็นภูเขาหินปูน ซึ่งมียอดสูง 192 เมตรจากระดับน้ำทะเล โบราณวัตถุที่พบบริเวณเขานางดำ มี 2 ประเภท คือ ประเภทหินและประเภทดินเผา
3. แหล่งโบราณคดีเขาขุมทรัพย์ ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า มีลักษณะเป็นเทือกเขามีถ้ำตื้นๆอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โบราณวัตถุที่พบบริเวณนี้มี่ 2 ประเภทเช่นเดียวกับที่พบบริเวณเขาโต๊ะนางดำ คือโบราณวัตถุประเภทหินและประเภทดินเผา
4. แหล่งโบราณคดีถ้ำหอย ตั้งอยู่ในถ้ำหินปูน หมู่ที่ 5 บ้านปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง สภาพแหล่งโบราณคดีเป็นเพิงผา พบหลักฐานทางโบราณคดีประกอบด้วยเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก เช่น เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ขัดมัน และชิ้นส่วนภาชนะดินเผา หม้อสามขา
5. แหล่งโบราณคดีถ้ำลาชิบ ตั้งอยู่ในถ้ำหินปูน หมู่ที่ 5 บ้านปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง สภาพแหล่งโบราณคดีเป็นเพิงผา พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นชิ้นส่วนเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์
6. แหล่งโบราณคดีถ้ำแคล้ว 1 ชิบ ตั้งอยู่ในถ้ำหินปูน หมู่ที่ 5 บ้านปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง สภาพแหล่งโบราณคดีเป็นเพิงผา พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นชิ้นส่วนเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์
7. แหล่งโบราณคดีถ้ำหัวลิง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู สภาพแหล่งโบราณคดีเป็นโพรงลึกเข้าไปในภูเขาหินปูน หลักฐานที่พบเป็นเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประดับตกแต่งผิวภาชนะด้วยลวดลายขูดขีด
8. แหล่งโบราณคดีถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง ลักษณะถ้ำภูผาเพชรเป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในมีโพรงลึกเป็นคูหาชนาดกว้าง มีหินงอกหินย้อยอยู่โดยทั่วไป ภายในคูหาด้านทิศตะวันตกของถ้ำพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบด้วย ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์เศษภาชนะดินเผา และเปลือกหอย จากร่องรอยหลักฐานที่พบเหล่านี้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณถ้ำภูผาเพชรคงเป็นแหล่งที่มนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้ใช้เป็นที่ฝังศพแห่งหนึ่ง
9. แหล่งโบราณคดีถ้ำโพธิ์ยอม ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านหนองราโพธิ์ ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู สถานแหล่งโบราณคดีเป็นเพิงผา พบหลักฐานทางโบราณคดีประกอบด้วยเศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ปละเปลือกหอย โบราณสถาน จังหวัดสตูล มีโบราณสถานที่สำคัญได้แก่ 1. คฤหาสน์กูเด็น 2. ตึกเก่าบ้านฉลุง
คฤหาสน์กูเด็น เป็นอาคารเก่าแก่หลังเดียวที่ถือเป็นโบราณสถานค่อนข้างสมบูรณ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2531 อาคารหลังนี้ ตั้งอยู่ ตรงข้ามสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล ถนนสตูลธานี ซอย 5 เขตอำเภอเมืองสตูล
คฤหาสน์กูเด็น มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน โรมันไทยและอิสลาม มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นอาคารที่มีความสำคัญในด้านการปกครองเมืองสตูลในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยถือเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองสตูลที่ควรอนุรักษ์สืบไป
ประวัติการก่อสร้างและการบูรณะ
เมื่อพระยาภูมินารถภักดี ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นพระยาอินทรวิชัยเจ้าเมืองสตูล ได้ใช้ศาลาว่าการเมืองสตูล ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวตั้งอยู่บริเวณตรวจคนเข้าเมือง ปัจจุบันได้พิจารณาว่าคับแคบ จึงดำริสร้างอาคารใหม่ ได้จัดหาเงินจากทางราชการที่กรุงเทพฯและสมทบเงินส่วนตัวสร้างอาคารหลังนี้แล้วเสร็จ ใน พ.ศ.2445 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นบ้านพักของท่านและรับรองแขกบ้านแขกเมือง ต่อมาใช้เป็นศูนย์ราชการการเมืองการปกครองเมืองสตูลและยังเป็นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ปี พ.ศ. 2441 ในสมัยที่นายสรศักดิ์ สร้อยสนธิ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้มีการบูรณะ เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล
ประวัติการใช้อาคาร
1. เป็นบ้านพักของพระยาภูมินารถภักดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445-2475 (พระยาภูมินารถภักดีสิ้นแก่กรรม)
2. เป็นศูนย์กลางการปกครองในสมัยพระยาภูมินารถภักดี และเจ้าเมืองคนต่อมา
3. เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2484
4. เป็นสำนักงานเทศบาล (ไม่ปรากฏหลักฐานว่าปีใด)
5. เป็นศาลากลางจังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490-พ.ศ. 2506
6. เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองสตูลในปี พ.ศ. 2508-พ.ศ.2509
7. เป็นโรงเรียนเทศบาล 1 ปี พ.ศ. 2509
8. เป็นสำนักงานกองรักษาความมั่นคงภายในในปัจจุบัน
9. ปี พ.ศ. 2532 กรมศิลปากรได้จดทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ (ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับด้านสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของคฤหาสน์แห่งนี้ จะปรากฏในรายละเอียดในเรื่องสถาปัตยกรรมในจังหวัดสตูล โดยเฉพาะตอนต่อไป)
ปัจจุบันคฤหาสน์กูเด็นได้รับการบูรณะเป็นสถานที่ราชการ ที่มีความสำคัญยิ่งของจังหวัดสตูล คือจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูลแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2541 จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีของผู้คนถ้วนหน้า เพราะว่าโบราณสถานแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ประมาณ 100 ปี ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากทางราชการและประชาชนสนใจเยี่ยมชมอยู่เสมอ
อาคารเก่าบ้านฉลุง อาคารเก่าบ้านฉลุง กลุ่ม 1 ปัจจุบันเจ้าของคือ นายเกียรติ วงศ์อนันต์ สร้างประมาณ ปี พ.ศ. 2480 อาคารนี่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้เพราะมีอายุน้อยกว่าอาคารแหล่งอื่นๆและประโยชน์การใช้สอย มุ่งการอนุรักษ์ เนื่องจากเป็นสมบัติที่ได้รับการสืบทอดมา อาคารเก่าบ้านฉลุง จึงเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าชิ้นหนึ่ง ไม่เพียงเฉพาะเจ้าของเท่านั้น แต่เป็นของชาวสตูลทั่วไปด้วย
|