หน้าหลัก |► ธรณีวิทยาและการอนุรักษ์ | 2 ธรณีวิทยาและการอนุรักษ์ |► 2.1 ลักษณะธรณีวิทยา | ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณภาคตะวันตกตอนล่างและภาคใต้ |
 ธรณีวิทยาและการอนุรักษ์

ลักษณะทางธรณีวิทยา 

ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณภาคตะวันตกตอนล่างและภาคใต้

          หินมหายุคพรีแคมเบรียน ประกอบด้วยหินไนส์และหินไมกา-ชีสต์

          มหายุคพาลีโอโซอิก ประกอบด้วยหินทราย หินปูน สลับกับหินทรายแป้ง หินดินดาน หินดินดานปนกรวด และหินปูนชั้นหนา มีซากดึกดำบรรพ์ซึ่งกำหนดอายุได้ตั้งคำแต่ยุคแคมเบรียน ออร์โดวิเชียน ไซลูเรียน  ดีโวเนียน คาร์บอนิฟอรัสจนถึงยุคเพอร์เมียน ตามลำดับ
            หินมหายุคมีโซโซอิกซึ่งเป็นหินยุคไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยหินทราย หินทรายแป้งและหินดินดาน พบซากดึกดำบรรพ์กำหนดอายุได้และบ่งชี้ว่ามีสภาวะแวดล้อมการเกิดในทะเล ในยุคจูแรสซิก-ครีเทเชียส นั้นจะมี การสะสมตะกอนของหินทราย หินดินดาน ในสภาวะแวดล้อมการเกิดบนบก หินมหายุคซีโนโซอิกประกอบไปด้วย หินยุคเทอร์เชียรีแผ่กระจายอยู่ในแอ่งต่างๆ ซึ่งกระจายตัวเป็นแนวตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไปจนถึงจังหวัดสงขลา ประกอบไปด้วยแอ่งหนองหญ้าปล้อง แอ่งเคีนยซา แอ่งสินปูน แอ่งกระบี่ แอ่งสะเดาและแอ่งสะบ้าย้อย โดยมักพบว่ามีชั้นถ่านหินปะปนอยู่ และมีซากดึกดำบรรพ์บ่งชี้ถึงยุคำเทอร์เชียรี 
             ยุคควอเทอร์นารี เป็นช่วงเวลาที่มีการผุพังของชั้นหินอย่างรุนแรงทำให้เกิดการทับถมตะกอนของชั้น ทรายและกรวด รวมทั้งแร่ดีบุก ที่มีทั้งกำเนิดบนบกและริมฝั่งทะเล 

             หินอัคนีโดยเฉพาะอย่างยิ่งหินแกรนิต มี ๒ ยุค คือ ยุคไทรแอสซิกและยุคครีเทเชียส ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ในการให้กำเนิดแร่ดีบุก ทังสเตน และแร่อื่นๆ  
            ภาคใต้มีโครงสร้างคดโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งมีระนาบแกนอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ และในบางบริเวณก็จะมีการคดโค้งที่รุนแรงมาก ชั้นหินคดโค้งรูปประทุนใหญ่ๆ มักมีความสัมพันธ์กับการแทรกตัวของหินแกรนิต หินคดโค้งรูป ประทุนที่สำคัญได้แก่บริเวณเทือกเขาบรรทัด ซึ่งตั้งต้นจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปจนถึงจังหวัดสตูล ในภาคตะวันตกตอนล่างและภาคใต้มีรอยเลื่อนตามแนวระดับที่สำคัญ ได้แก่ แนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งวางตัวใน แนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ แนวรอยเลื่อนระนองและแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ต่างวางตัวในแนว ตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนั้นยังมีรอยเลื่อนแนวเหนือใต้ ปรากฏในบริเวณเขาโต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส (
http://www.dmr.go.th/main.php?filename=west_geo เข้าถึงเมื่อ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑) 



 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ