หน้าหลัก |► ประเพณีและวัฒนธรรม | 4 ประเพณีและวัฒนธรรม |► 4.5 ภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดสตูล |
 
 ประเพณีและวัฒนธรรม

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดสตูล

  งานช่างท้องถิ่นเครื่องจักสาน

                    งานหัตกรรมท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวจังหวัดสตูล ปรากฏชัดในการจักสานซึ่งเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นจังหวัดสตูล ได้แก่

                  เตย เป็นพืชที่เจริญเติบโตในที่ลุ่ม ใกล้น้ำ หรือที่แฉะ เตยในจังหวัดสตูลมีหลายชนิด เช่น เตยบ้าน เตยปูตะ  เตยแกะ ชาวบ้านนำใบมากรีดเอาหนามริมใบทั้งสองออก นำไปผึ่งแดดพอหมาด หรือย่างไฟแล้วแช่น้ำ นำเส้นตอกของเตยมาจักสานเป็นเสื่อสำหรับปูรองนั่งนอนหรือไว้สำหรับเมล็ดพืช ทำเป็นกระเชอ และประดิษฐ์เป็นของชำร่วย  เครื่องจักสานจากใบเตยมีทำที่ตำบลละงู  อำเภอละงู

                  ไม้ไผ่  เป็นพืชที่เจริญงอกงาม ได้ทั่วไปในจังหวัดสตูล ไม้ไผ่ที่ใช้ในการทำเครื่องจักสาน ได้แก่ ไม้ไผ่สีสุ ไม้ไผ่โป ไม้ไผ่ป่าและไม้ไผ่ลำมะลอก เครื่องจักสานที่ทำจากไม้ไผ่มี 2 ลักษณะ คือจักตอก โดยการนำไม้ไผ่มาจักเป็นเส้นบางๆ แล้วสานเป็นภาชนะต่างๆ เช่น กระด้ง ตะแกรง สุ่ม ไซ แผงตากปลา ไม้คราดและฝาขัดแตะ หากนำไม้ไผ่ซีกสอดขัดกับลูกตั้งแล้วสานเป็นฝาเรือน เรียกว่า ฝาขัดแตะ เครื่องจักสานไม้ไผ่ มีมากที่บ้านค่ายรวมมิตร ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล

                 ดอกหญ้า นิยมนำมาทำเป็นไม้กวาด หญ้าที่ทำไม้กวาดเป็นหญ้าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ลักษณะของต้นหญ้าจะเป็นกอใหญ่ ความสูงประมาณ 200 เซนติเมตร ดอกหญ้าจะเริ่มออกดอกในเดือนมกราคมและเก็บดอกได้ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ซึ่งอยู่ช่วงฤดูร้อน หญ้าที่เก็บมาใหม่ๆ ยังสดอยู่ ต้องนำมาผึ่งแดด เพื่อให้ดอกแห้งกรอบและสลัดเอาส่วนที่เป็นดอกออกให้หมด จึงนำมาจัดทำเป็นไม้กวานโดยรวบก้านดอกหญ้าเข้าด้วยกัน แล้วจัดส่วนดอกให้คลี่ออกเป็นแผง โดยใช้หวายหรือเชือกมัดตรงโคนให้แน่น  แหล่งดอกหญ้ามีมากที่อำเภอควนกาหลง และอำเภอทุ่งหว้า    



 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ