ธรณีพิบัติภัย
จังหวัดสตูลตั้งอยู่ทางแนวชายฝั่งทะเลอันดามันของมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ดินถล่ม หลุมยุบในแนวภูเขาหินปูน สูญเสียชายฝั่งทะเลจากน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเล รายละเอียดดังนี้ และทิศตะวันออกเป็นภูเขาสูงลาดลงสู่ชายฝั่งทะเลน้ำท่วมในฤดูฝนและขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งรายละเอียด
๑. สึนามิ
สึนามิ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ที่มีความรุนแรงขนาด ๙.๐ ตามมาตราริคเตอร์ บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ละติจูด ๓.๓๐๗ องศาเหนือและลองจิจูด ๙๕.๙๔๗ องศาตะวันออก ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิเคลื่อนเข้าซัดชายฝั่งทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตก ภาคใต้ของประเทศไทย จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้รวม ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง สตูล และกระบี่ มีผู้เสียชีวิต ๕,๓๙๓ คน บาดเจ็บ ๘,๔๕๗ คน และสูญหาย ๓,๐๖๒ คนและทรัพย์สินเสียหายประเมินในขั้นต้นมีมูลค่ารวมประมาณ ๒๓,๕๐๘.๑๑ ล้านบาท และในอีกหลายประเทศบริเวณมหาสมุทรอินเดียที่คลื่นยักษ์สึนามิได้คร่าชีวิตผู้คนรวมเป็นจำนวนมากกว่า ๒๒๐,๐๐๐ คนสึนามิเป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “คลื่นท่าเรือ ” เป็นคลื่นใต้น้ำ เกิดจากแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทรที่มีระดับความรุนแรง มักเกิดขึ้นบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เช่น พื้นที่รอบๆ มหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียกกันว่า “วงแหวนไฟ” คลื่นสึนามินั้นมีความยาวคลื่นหรือระยะระหว่างสันคลื่นยาวมาก ในระหว่างที่คลื่นสึนามิเคลื่อนที่อยู่ในมหาสมุทรช่วงที่เป็นทะเลลึก คลื่นจะมีลักษณะเป็นคลื่นใต้น้ำที่เห็นเป็นเพียงระลอกคลื่นสูงราว ๓๐ เซนติเมตร ถึง ๑ เมตร เท่านั้น บางครั้งผู้ที่อยู่บนเรือเดินสมุทรอาจไม่รู้สึกหรือสังเกตถึงการเคลื่อนตัวของคลื่นได้ แต่เมื่อคลื่นสึนามิเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งสู่เขตน้ำตื้นคลื่นจะเคลื่อนที่ช้าลง ในขณะที่ความสูงของยอดคลื่นกลับยิ่งทวีสูงขึ้น และมีพลังทำลายล้างสูงคลื่นสึนามิมีลักษณะต่างจากคลื่นที่เกิดจากกระแสลมบริเวณชายฝั่งทะเล กล่าวคือ คลื่นที่เกิดจากลมจะมีลักษณะเป็นคลื่นแบบม้วนตัวตามกระแสลม ส่วนคลื่นสึนามิจะเป็นคลื่นแบบแนวตรงยาวและไม่มีความสัมพันธ์กับทิศทางของกระแสลม คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวในทะเลอาจจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วระหว่าง ๕๐๐-๘๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของแผ่นดินไหว ลักษณะการขยับตัวของรอยเลื่อนและความลึกของพื้นมหาสมุทร เมื่อคลื่นสึนามิเคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณชายฝั่งระยะห่างระหว่างยอดคลื่นจะลดลงในขณะที่ความสูงของยอดคลื่นจะสูงมากขึ้น ในบริเวณที่มีความลึกของน้ำน้อยกว่า ๕๐ เมตรความเร็วของคลื่นประมาณ ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่ความลึกของน้ำ ๑๐ เมตร ความเร็วของคลื่นประมาณ ๓๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ชายฝั่งคลื่นอาจสูงถึง ๓๐ เมตร และมีพลังการทำลายล้างสูง จังหวัดสตูล ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิน้อยที่สุด จาก ๖ จังหวัดของชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีผู้เสียชีวิต ๖ คน บาดเจ็บ ๑๕ คน กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการสำรวจ จัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ถูกน้ำทะเลท่วม (Inundation) และจัดทำแผนที่เส้นทางหนีภัยคลื่นยักษ์สึนามิ สำหรับให้ประชาชนและหน่วยงานราชการ ได้ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนอพยพ โดยดำเนินการจัดทำแผนที่เส้นทางหนีภัยของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ได้แก่ อ่าวทะนาน บ้านบ่อเจ็ดลูก - บ้านปากบารา บ้านปากบาง บ้านราไว บ้านสนกลาง จังหวัดสตูล
ภาพ สึนามิซัดเกาะภูเก็ต
๒. การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเล
ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว ๓,๑๔๘กิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดต่าง ๆ ๒๓ จังหวัด แบ่งเป็น ชายฝั่งด้านอ่าวไทย และชายฝั่งด้านอันดามัน ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะคิดเป็นระยะทางทั้งสิ้น ๘๓๐ กิโลเมตร หรือร้อยละ ๒๓ ของพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมด โดยชายฝั่งด้านอ่าวไทยซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ชายฝั่ง ๑๗ จังหวัด มีความยาวทั้งสิ้น ๒,๐๕๕ กิโลเมตร มีชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ ๗๓๐ กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๓๕ของพื้นที่ชายฝั่งด้านอ่าวไทยทั้งหมด ส่วนชายฝั่งด้านอันดามันประกอบด้วยพื้นที่ชายฝั่ง ๖ จังหวัด มีความยาว๑,๐๙๓ กิโลเมตร มีชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะยาว ๑๐๐ กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๙ ของพื้นที่ชายฝั่งด้านอันดามันทั้งหมด สำหรับกระบวน การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลนอกจากเกิดกระบวนการกัดเซาะข้างต้นแล้ว บางแห่งยังสามารถพบการสะสมของตะกอนทำให้พื้นที่ชายฝั่งงอกออกไปและเกิดการตื้นเขิน โดยพบว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยเกิดการสะสมของตะกอนรวม ๑๒๗.๓ กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๗.๔๙ ของความยาวชายฝั่งทั้งหมด และพื้นที่ชายทะเลด้านอันดามันเกิดการสะสมของตะกอนรวม ๓๕ กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๓.๗ ของความยาวชายฝั่งทั้งหมด (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , ๒๕๕๔) การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลนั้น เกิดจากกระบวนการทางธรณีสัณฐาน ซึ่งในแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปตามลักษณะการกำเนิด การแปรสัณฐานเปลือกโลก และกระบวนการปรับระดับ ชายฝั่งทะเลเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งในรูปแบบของการกัดเซาะ และการสะสมของตะกอน โดยกระบวนการของลม คลื่น น้ำขึ้นน้ำลง และกระแสน้ำซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล การศึกษาโดยสิน สินสกุล และคณะ (๒๕๔๕) ได้จำแนกลักษณะชายฝั่งตามการเปลี่ยนแปลงไว้ ดังนี้
๒.๑ ชายฝั่งคงสภาพ เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่มีการปรับสมดุลตามธรรมชาติ ในรอบปีตะกอนบริเวณชายฝั่งถูกคลื่น ลม กระแสน้ำ พัดพาออกไปในทะเลในฤดูกาลหนึ่ง แต่ในอีกฤดูกาลหนึ่งตะกอนดังกล่าว ถูกพัดพากลับมาสะสมตัวบริเวณชายฝั่งในอัตราเกือบเท่ากันหรือเท่ากัน
๒.๒ ชายฝั่งสะสมตัว เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่มีการสะสมตัวของตะกอนเพิ่มขึ้น ทำให้ชายฝั่งพอกพูนสูงขึ้นหรือมีพื้นที่งอกยื่นยาวออกไปในทะเล ตะกอนที่เพิ่มมาอาจมาจากตะกอนที่ถูกพัดพามาจากบริเวณใกล้เคียง หรือมาจากทะเลในช่วงที่ลมพายุพัดพาตะกอนเข้าหาฝั่ง หรือมาจากทางน้ำบนบก
๒.๓ ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะ เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ปริมาณตะกอนชายฝั่งที่ถูกพัดพาออกไปในทะเลในฤดูมรสุมมีปริมาณมากกว่าตะกอนที่ถูกพัดพากลับเข้ามาสะสมตัว ทำให้พื้นที่ชายฝั่งหดหายไปความกว้างของชายหาดลดน้อยลง หรือเกิดการถอยร่นเข้าไปในแผ่นดิน
ภาพ แสดงสภาพคลื่นลมแรงโดยเฉพาะคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งอย่างรุนแรงในช่วงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๙
ส่งผลให้ถนนเลียบชายหาดบางศิลา ม.๑ บ้านหัวหิน ตำ บลละงูชำรุดเสียหาย
( https://www.thairath.co.th/content/732089 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑)
๓. ดินถล่ม ดินถล่มเป็นธรณีพิบัติภัยที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของมวลดิน และหิน ลงมาตามลาดเขาด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของโลก ดินถล่มที่พบในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ดินถล่ม ดินไหล และหินร่วงหรือหินถล่ม ปัจจัยที่ทำให้เกิดดินถล่มมี ๔ ประการ คือ
๑) ลักษณะธรณีวิทยาเป็นบริเวณที่มีหินผุทำให้ชั้นดินหนา โครงสร้างทางธรณีวิทยามีรอยเลื่อนรอยแตก ตัดผ่านชั้นหิน เป็นต้น
๒) สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาสูงและมีความลาดชัน
๓) ลักษณะสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่ถูกหลักวิชาการ ได้แก่ สร้างบ้านและทำสวนทำไร่รุกล้ำพื้นที่ลำน้ำและภูเขา การตัดถนนผ่านภูเขาสูง หรือสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางระบายน้ำ เช่น ถนน สะพาน และท่อ เป็นต้น
๔) ปริมาณน้ำฝนที่มากจนชั้นดินอุ้มน้ำไม่ไหว เกณฑ์มาตรฐานคือน้ำฝนมีปริมาณ ๑๐๐ มิลลิเมตร ในรอบ ๒๔ ชั่วโมง หรือมีปริมาณฝนสะสมที่ ๓๐๐ มิลลิเมตร
หินถล่มบริเวณวัดเขาน้อย หมู่ที่ ๒ ต.ควนโพธิ์ อ.เมืองสตูล ใกล้กับถนนสายหมายเลข๔๑๖
(https://www.thairath.co.th/content/833122 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑)
๔. หลุมยุบ
โดยทั่วไปหลุมยุบ (Sinkhole) จะพบเป็นหลุมหรือแอ่งบนพื้นดิน ซึ่งมีลักษณะรูปร่างคล้ายกรวยหรือลึกชันเป็นเหวลึก หรือคล้ายปล่อง ปากหลุมเกือบกลม สาเหตุของหลุมยุบเกิดจากมีโพรงใต้ดินอยู่ด้านล่าง ต่อมาเพดานโพรงมีการพังทลายยุบตัวลง เกิดเป็นหลุมยุบขึ้น สาเหตุของการยุบตัวอาจเนื่องมาจากการสูบน้ำใต้ดิน หรือได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวหรือยานพาหนะที่สัญจรไปมาในบริเวณใกล้เคียงโพรงใต้ดินเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกันคือ
๑) มีน้ำฝนที่มีความเป็นกรดอย่างอ่อนละลายเอาหินจำพวกคาร์บอเนต ได้แก่ หินปูน หินโดโลไมต์ ที่รองรับอยู่ด้านล่างออกไป จึงเกิดเป็นโพรงหรือถ้ำใต้ดิน
๒) มีเกลือหินรองรับอยู่ด้านล่าง เมื่อมีการสูบน้ำเค็มเพื่อผลิตเกลือสินเธาว์จึงเกิดการ ละลายของเกลือหินทำให้เกิดโพรงเกลือขึ้น
๓) น้ำใต้ดินพัดพาเอาตะกอนทรายที่รองรับด้านล่างออกไป เนื่องจากปริมาณและแรง พัดพาของน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้น
หลุมยุบเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตามธรรมชาติและโดยการกระทำของมนุษย์หลุมยุบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอาจใช้เวลาหลายล้านปีหรือในเวลาอันรวดเร็ว เช่น กรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด๙.๑ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ก่อให้เกิดหลุมยุบในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทย หนึ่งในผลกระทบดังกล่าวก็คือบ่อน้ำชาวบ้านในบ้านเปลือกหอยได้เกิดบ่อปูนยุบและพังทลายลงในที่สุดตามมาด้วย หลุมยุบอีก ๔ หลุม หลุมใหญ่สุดมีขนาดกว้างประมาณ ๗-๘ เมตร และลึก ๕ เมตร นอกจากนี้ยังเกิดรอยแยกไปตามพื้นดินเป็นทางยาวปัจจุบันหลงเหลือเพียงบ่อใหญ่บ่อเดียว
......................................................
บรรณานุกรม
ทรงภพ วารินสะอาด. (ม.ป.ป.). อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark). จังหวัดสตูล : ม.ป.ท. (อัดสําเนา)
ที่ทำการปกครองจังหวัดสตูล.(2562). เอกสารประกอบการอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เกี่ยวกับอุทยานธรณีโลก
สตูลแก่ข้าราชการฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดสตูล. จังหวัดสตูล : ที่ทำการปกครองจังหวัดสตูล.
คณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณี. อุทยานธรณี. สืบค้น
เมื่อ 1 พฤษภาคม 2563, จาก https://www.geopark-thailand.org/unesco-global- geoparks