ธรณีวิทยาและการอนุรักษ์

กลุ่มหินและหมวดหินต่าง ๆ

        ๑. กลุ่มหินตะรุเตา (Tarutao Group)

                กลุ่มหินตะรุเตาเป็นหินทรายสีแดง สีน้ำตาลถึงน้ำตาลเทา หินชนวน หินทรายแป้งปนหินกรวดมน และหินควอร์ตไซต์ (รูปที่ 3) เป็นกลุ่มหินที่มีความหนามากกว่า ๑,๐๐๐ เมตร เป็นชั้นหินทรายสลับชั้นหิน ดินดานสีแดง ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแร่ควอตซ์มีลักษณะเป็นชั้นบางถึงชั้นหนา มีโครงสร้างชั้นเฉียงระดับแบบที่แสดงทิศทางการไหลของกระแสน้ำที่พัดพาตะกอนจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกพบซากดึกดําบรรพ์จำนวนมากพวกไทรโลไบต์และแบรคิโอพอด ให้อายุของกลุ่มหินตะรุเตาเป็นยุคแคมเบรียนตอนปลาย ส่วนบนบกของพื้นที่จังหวัดสตูลโผล่ให้เห็นทางตอนเหนือและด้านตะวันออก ส่วนบริเวณด้านตะวันตกของพื้นที่บกมีรายงานโผล่ให้เห็นเป็นหย่อมเล็กๆ และบริเวณเขาโต๊ะหงาย ตำบลปากน้ำอำเภอละงู พบหินทรายและหินดินดานสีแดงวางตัวรองรับหินปูนแบบรอยสัมผัสรอยเลื่อนย้อน ที่มีอายุอยู่ในยุคแคมเบรียนและวางตัวรองรับหินปูนยุคออร์โดวิเชียน


รูปที่ ๓ ซ้ายแสดงชั้นหินทรายสีน้ำตาลแดงบริเวณชายฝั่งอ่าวเมาะ ขวาเป็นชั้นหินทรายมีชั้นเฉียงระดับและ พบซากดึกดำบรรพ์ของไทรโลไบต์และแบรคิโอพอด

 

       ๒. กลุ่มหินทุ่งสง(Thung Song Group)

            กลุ่มหินทุ่งสงหรือหินปูนยุคออร์โดวิเชียน ปรากฏให้เห็นชัดเจนที่เกาะตะรุเตาเขตอำเภอเมือง เขตอำเภอละงู และอำเภอทุ่งหว้า ส่วนใหญ่เป็นหินปูนสีเทาเข้ม รองลงไป คือหินดินดาน หินโคลน มีความหนาประมาณ ๗๐๐ เมตร มีอายุประมาณ ๔๘๘-๔๕๐ ล้านปีก่อน จำแนกแยกย่อยเรียงหมวดหินที่แก่ที่สุดจากล่างสุดไปหาหมวดหินที่อ่อนที่สุดขึ้นไปทางด้านบนจำนวน ๗ หมวดหิน ดังนี้      


                    ๒.๑ หมวดหินมะละกา (Malaka Formation) เป็นหมวดหินด้านล่างสุดโผล่ให้เห็นชัดเจนที่ คลองมะละกา ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา วางตัวอยู่บนกลุ่มหินตะรุเตาเป็นหิน บางๆเนื้อโดโลไมต์และเนื้อดินสีเทาต่อเนื่องเป็นรูปคลื่น ชั้นหินมีลักษณะฉีกแยกเป็นรูปเลนส์ไม่ต่อเนื่อง ชั้นหินมีความหนา ๑๐-๑๐๐ มิลลิเมตร ชั้นหินปูนมีร่องรอยถูกรบกวนด้วยสิ่งมีชีวิต(bioturbation)อย่างหนาแน่น รูหนอนวางตัวในแนวตั้งมากมาย ด้านล่างมีชั้นทัฟฟ์ พบสาหร่ายในลักษณะของ algalmat พบซากดึกดำบรรพ์ ในกลุ่มลิ่นทะเล (polyplacophoran) ชนิด Chelodes whitehouesi หน่วยหินนี้มีสภาพแวดล้อมของการตก สะสมตะกอนบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลง (intertidal) พบโผล่ให้เห็นที่คำลองมะละกาหนา ๓๐ เมตร และพบที่อ่าวตะโล๊ะวาวหนา ๔๑๐ เมตรสำหรับบนพื้นที่บกยังไม่มีรายงานการค้นพบ

รูปที่ ๔ หมวดหินมะละกา แสดงหินปูนชั้นบางมากมีชั้นสาหร่าย (A) และร่องน้ำเก่า (B,C)

 

               ๒.๒ หมวดหินตะโล๊ะอุดัง(Talo UDang Formation) มีชั้นหินแบบฉบับอยู่บริเวณอ่าว  ตะโล๊ะอุดังทางตอนใต้ของเกาะตะรุเตา ประกอบด้วยหินปูนเป็นชั้นบางมีชั้นหินหนาระหว่าง๑๐-๕๐ มิลลิเมตร ชั้นหินปูนมีก้อนทรงกลมเนื้อปูนสีเทาถึงสีชมพูและแทรกสลับด้วยชั้นหินดินดานเนื้อปูนสีแดงถึงสีเขียวแกมเทาหมวดหินมีความหนาประมาณ ๘๐-๑๓๐ เมตร มีเศษซากรูหนอนชอนไชวางตัวในแนวนอนกับแนวชั้นหิน เกิด สะสมตัวบริเวณ ทะเลสาบน้ำเค็มบริเวณชายฝั่งทะเล

 

 


รูปที่ ๕ หมวดหินตะโล๊ะอุดัง แสดงชั้นหินปูนรูปเลนส์และก้อนหินปูนในหินดินดาน

 

                   ๒.๓ หมวดหินลางา (La Nga Formation) ตั้งชื่อหมวดหินตามชื่ออ่างลางา ทางด้านตะวันตก เฉียงเหนือของเกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นสถานที่พบชั้นหินแบบฉบับ เป็นหินปูนชั้นหนาเนื้อขนาดเม็ดทรายสีเทาแทรกสลับด้วยหินโดโลไมต์ชั้นบางมาก ตอนล่างของหมวดหินมีชั้นเฉียงระดับในชั้นหินทุกชั้นมากมายแล้วหายไปทางด้านบน พบรูหนอนชอนไชเป็นรูปตัวยูทั่วไป พบโครงสร้างร่องน้ำเก่าขนาดเล็ก พบซากดึกดำบรรพของหอยกาบเดี่ยวชนิด Peelerophon oehlerti ระบุอายุได้เป็นยุคออร์โดวิเชียนตอนต้น มีสภาพแวดล้อมการสะสมตัวบริเวณ ชายฝั่งทะเล

 

 

รูปที่ ๖ หมวดหินลางา เป็นหินปูนชั้นหนามีรอยชั้นเฉียงระดับ
(
B) และรอยกัดกร่อนที่มีการสะสมตัวทับลงไปใหม่



                  ๒.๔ หมวดหินปาหนัน (Pa Nan Formation) ตั้งชื่อหมวดหินตามชื่อเกาะปาหนัน เป็นเกาะ ขนาดเล็กอยู่ทางตอนใต้ของเกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบชั้นหินแบบฉบับ เป็นหินปูนชั้นบางๆก่อตัวจากสาหร่ายโครงสร้างสโตรมาโตไลต์ (stromatolite) ที่เทียบเคียงได้กับสภาพแวดล้อมของการเกิดหินสโตรมาโตไลต์ที่อ่าว ชาร์ค ในประเทศออสเตรเลีย โดยมีสภาพแวดล้อมของการเกิดอยู่บริเวณส่วนบนของพื้นที่ใต้ระดับน้ำลง(subtidal) ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานการพบหมวดหินปาหนันบนพื้นที่บกของจังหวัดสตูล แต่จากการสำรวจภาคสนามพบหินปูนบริเวณบ้านราวปลาใกล้พื้นที่เหมืองแร่แบไรต์ เป็นหินปูนสโตรมาโตไลต์ที่มีลักษณะคล้ายหมวดหินปาหนัน(รูปที่ ๗) 

 

รูปที่ ๗  (ซ้าย) หมวดหินปาหนัน เป็นหินปูนชั้นบางโค้งตามกอสโตรมาโตไลต์  
(ขวา) หินปูนบริเวณบ้านราวปลา ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า มีโครงสร้างสโตรมาโตไลต์ซึ่งเป็น 
ลักษณะของหมวดหินปาหนัน
 

                   ๒.๕ หมวดหินแลตอง (Lae Tong Formation) ตั้งชื่อหมวดหินตามชื่อเกาะแลตองเป็นเกาะ เล็กๆ ทางตอนใต้ของเกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบหินแบบฉบับเป็นชั้นหินปูนเนื้อโคลนชั้นบางๆ หนาประมาณ ๑-๓ เซนติเมตร มีชั้นหินดินดานสีแดงและสีเทาเขียวแทรกสลับ ส่วนล่างของหมวดหินมีลักษณะเป็นก้อนปูนพบโครงสร้างชั้นเฉียงระดับเล็กๆแบบ hummocky cross bedding ซึ่งเกิดจากพายุ พบซากดึกดำบรรพ์หอยกาบเดี่ยว แบรคิโอพอด ไทรโลไบต์ และนอติลอยด์ เกิดสะสมตัวบริเวณทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งทะเลเมื่อช่วงปลายของ ยุคออร์โดวิเชียนตอนต้น (Arenig)(ดังรูปที่ 8) ยังไม่มีรายงานการพบหมวดหินแลตองบนพื้นที่บกของจังหวัดสตูล แต่จากการสำรวจภาคสนามชั้นหินบริเวณน้ำตกธารสวรรค์มีลักษณะคล้ายหมวดหินแลตอง

                       รูปที่ 8 โครงสร้างหินปูนของกลุ่มหินทุ่งสง บริเวณเกาะแลตอง 
                       (ก)  หมวดหินแลตอง เป็นชั้นหินปูนชั้นบางมีชั้นรอยเฉียงระดับhummocky สลับหินดินดาน
                       (ข)  ตอนบนของหมวดหินแลตอง เป็นหินปูนแบบก้อนในหินดินดาน 
                       (ค)
Curved nautiloid ในหมวดหินแลตอง

                    ๒.๖ หมวดหินรังนก (Rung Nok Formation) ตั้งชื่อหมวดหินตามชื่อเกาะรังนก อยู่ทางตอนใต้ของเกาะตะรุเตา ส่วนล่างของหมวดหินเป็นหินปูนเนื้อขนาดเม็ดทรายเป็นชั้นบางและชั้น หินจะหนามากขึ้นๆ ไปทางด้านบน พบซากดึกดำบรรพ์พวกฟองน้ำ พลับพลึงทะเล ไบรโอซัว ไทรโลไบต์ ปะการัง และนอติลอยด์ ส่วนด้านบนของหมวดหินเป็นหินโดโลไมต์ เกิดสะสมตัวบริเวณพืดปะการัง มีรายงานพบหมวดหินรังนกบนพื้นที่บกของจังหวัดสตูลบริเวณน้ำตกวังสายทองและถ้ำเจ็ดคต (ดังรูปที่ 9)

 

รูปที่ ๙ หมวดหินรังนก เป็นหินปูนสีแดงของหมวดหินป่าแก่ชั้นหนามาก
มีโครงสร้างกอปะการังฟองน้ำ
stromatoporoid ขนาดใหญ่
 

                   ๒.๗ หมวดหินป่าแก่ (Pa Kae Formation) เป็นหมวดหินที่วางตัวอยู่ด้านบนสุดของกลุ่มหิน ทุ่งสง พบเฉพาะบนพื้นที่บกของจังหวัดสตูล ชื่อหมวดหินตั้งชื่อตามชื่อตำบลป่าแก่ แต่ปัจจุบันพื้นที่หินแบบฉบับ อยู่บริเวณบ้านทุ่งเสม็ดตำบลกำแพง อำเภอละงูจังหวัดสตูล (รูปที่ ๑๐) เป็นหินปูนสีแดงเป็นชั้นบางๆแทรกสลับด้วยชั้นหินโคลนสีแดงเป็นชั้นบางมาก เกิดจากการก่อตัวโดยสาหร่ายเป็นหินสโตรมาโตไลต์ ทำให้เมื่อมองด้านบน ชั้นหินจะเห็นรูปแบบคล้ายรอยระแหงโคลน พบซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์ชนิดOvalocephalus, Orthorhachis Nileus และ Amphytrion ซึ่งเป็นไทรโลไบต์อาศัยอยู่ในน้ำลึกที่ระดับความลึก ๑๗๕-๒๙๐ เมตร เมื่อประมาณยุคออร์โดวิเชียนตอนปลาย จากการสำรวจภาคสนามพบว่าหินปูนของหมวด หินป่าแก่มักพบโผล่ให้เห็นตามที่ราบลุ่มต่ำ ทั้งบริเวณพื้นที่เนินเตี้ยๆและโผล่ให้เห็นบริเวณลำธารหรือแม้แต่ในพื้นที่ป่าชายเลนในเขตอำเภอละงู อย่างไรก็ตามยังพบโผล่ในเขตพื้นที่โรงเรียนบ้านป่าพน อำเภอมะนัง โดยพบว่ามีหมวดหินวังตงวางตัวปิดทับอยู่ทางด้านบน

  รูปที่ ๑๐ หินปูนหมวดหินป่าแก่บริเวณบ้านทุ่งเสม็ด ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล 

 ๓. หินยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน-คาร์บอนิเฟอรัส หินยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน-คาร์บอนิเฟอรัส หรือกลุ่มหินทองผาภูมิ(Thong Pha Phum Group) สำหรับในเขตพื้นที่จังหวัดสตูลแล้ว กลุ่มหินแบ่งออกได้เป็น ๓ หมวดหินลำดับจากด้านล่างสุดไปทาง ด้านบนสุด ดังนี้ 

                   ๓.๑ หมวดหินวังตง (Wang Tong Formation) ตั้งชื่อตามชื่อบ้านวังตงทางตอนใต้ของอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล วางตัวอยู่บนหมวดหินป่าแก่อย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 11) ประกอบด้วยหินดินดานและหินเชิร์ต และมีชั้นหินทรายสีเขียวที่เคยพบไทรโลไบต์ชนิดDalmanitina sp. และแบรคิโอพอด ตอนกลางของหมวดหิน เป็นหินเชิร์ตสีดำผุสีน้ำตาลสลับด้วยหินดินดานสีดำพบซากดึกดำบรรพ์แกรปโตไลต์จำนวนมาก เป็นชนิด Glyptographtus persculptus โดยแกรปโตไลต์ที่พบทางด้านบนของหมวดหินเป็นพวกGlyptographtus-persculptus , Glyptographtus sp., Parakidographtus acuminatus , Climacographtus medius ,Climacographtus normalis, Pseudoclimacographtus sp. และ Climacographtus modestus ซึ่งมีสภาพแวดล้อมของการตกสะสมตัวของตะกอนในทะเลลึกแบบพื้นท้องทะเลในช่วงยุคออร์โดวิเชียนตอนปลายถึงยุคไซลูเรียนตอนต้น

 

รูปที่ ๑๑ ก) พื้นที่บริเวณบ้านทุ่งเสม็ด พบหมวดหินวังตง เป็นชั้นหินทรายสลับด้วยหินดินดานและหินเชิร์ต                    ข) ซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์จากชั้นหินโคลนหมวดหินวังตง

                   ๓.๒ หมวดหินควนทัง (Khuan Tung Formation) ตั้งชื่อตามชื่อเนินเขาเตี้ยระหว่าง กิโลเมตรที่ 7-๑๐ ของถนนสายอำเภอละงู-อำเภอทุ่งหว้า ตอนล่างของหมวดหินเป็นหินปูนชั้นบางสีเทาส่วนด้านบนเป็นหินปูนชั้นบางสีแดงที่เกิดจากสาหร่ายมีโครงสร้างสโตรมาโตไลต์ พบซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์หลายชนิด ได้แก่ Reedops megaphacos ,Reedops selenniomma ,Cornuproetus sculptus,Decoroproetus sp.และ Platyscutellum sp. รวมถึงพบโคโนดอนต์ Polygnathus labiosus ซึ่งระบุอายุอยู่ในช่วงยุคไซลูเรียนถึงยุคดีโวเนียนตอนกลางดังรูปที่ ๑๒

 


 

รูปที่ ๑๒ แสดงหมวดหินควนทัง เหมืองหินบ้านหาญ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล

                    ๓.๓ หมวดหินป่าเสม็ด (Pa Samed Formation) หมวดหินป่าเสม็ดวางต่อเนื่องอยู่บนหมวดหินควนทัง ชื่อหมวดหินมาจากชื่อหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่แบบฉบับในอำเภอละงู เป็นหินดินสีดำมีซากดึกดำบรรพ์ เทน ทาคิวไลต์มากมาย ตอนกลางเป็นหินทรายสีน้ำตาลและแดงที่แสดงลักษณะโครงสร้างแบบ Bouma sequence พบซากดึกดำบรรพ์แอมโมไนต์ แบรคิโอพอด ไทรโลไบต์ นอติลอยด์ เซฟาโลพอด บริเวณด้านล่างของหมวดหินพบซากดึกดำบรรพ์หลายสกุล ได้แก่ Nowakia, Metastyliolina, Styliolina, Echinocoeliopsis, Plagiolaria, Echinocoelia และ Monographtus รวมถึงแบรคิโอพอดQuasiposserella samedensis, Plectodonta forteyi, Caplinoplia thailandensis และ Clorindawongwanichi ตกสะสมตัวในทะเลลึกตามพื้นท้องมหาสมุทรในช่วงยุคดีโวเนียนตอนต้นถึงดีโวเนียนตอนกลางและอาจมีอายุอ่อนขึ้นไปถึงคาร์บอนิเฟอรัสตอนต้นด้วย


รูปที่ ๑๓ ซากดึกดำบรรพ์บ้านตะโล๊ะไส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล

       ๔. หินยุคคาร์บอนิเฟอรัส


          หินยุคคาร์บอนิเฟอรัสของจังหวัดสตูล คือหมวดหินควนกลาง (Khuan Klang Formation) พบบริเวณพื้นที่บ้านควนกลาง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ด้านล่างสุดเป็นหินเชิร์ตสีเทาดำหนาประมาณ ๑๕ เมตร ถัดขึ้นมาเป็นหินดินดานเนื้อทรายสีเทา เทาเขียว และสีน้ำตาลแดง พบหอยกาบคู่สกุล Posidonomya ในชั้นหิน ดินดาน และยังมีการพบแบรคิโอพอด และเศษแตกหักส่วนของหางไทรโลไบต์ มีชั้นหินทราย หินทรายแป้ง และหินเชิร์ต แทรกสลับ หมวดหินมีความหนา ๑๒๐ เมตร เกิดสะสมตัวในทะเลในช่วงยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนต้น


รูปที่ ๑๔ ซากดึกดำบรรพ์ หอยกาบคู่สกุล Posidonomya 

 

๕. กลุ่มหินแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Group)     
          หินในกลุ่มหินแก่งกระจานนั้นที่พบในจังหวัดสตูลนั้น โผล่ปรากฏให้เห็นชัดเจนบริเวณควนดินสอ ห่างจากตัวอำเภอทุ่งหว้าไปทางทิศใต้ประมาณไม่เกิน ๑ กิโลเมตร มีสภาพเป็นเหมืองหินร้าง มีลักษณะเป็นหินโคลนมีกรวดปน (pebbly mudstone) สีเทามีรอยแตกหลายแนวและสังเกตเห็นชั้นหินได้ยากโดยทั่วไปหินโคลนที่แตก มักเกิดเป็นรูปแท่งคล้ายดินสอจนเป็นที่มาของชื่อเรียกควนดินสอ หาซากดึกดำบรรพ์ได้ยาก มักพบโผล่ให้เห็นเรี่ย ไปกับพื้นราบบริเวณพื้นที่เชิงเขาต่อเนื่องไปใกล้พื้นที่ชายฝั่งทะเลในเขตอำเภอทุ่งหว้า และรวมถึงพบรอง รับอยู่ใต้ หินปูนของภูเขาลูกโดด ๆเล็ก ๆ เช่น ที่เขาหนุ่ย ในเขตตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า และรวมถึงพบเป็นเหมืองหินที่บ้านปี ใหญ่อำเภอละงู  กลุ่มหินนี้เดิมทีถูกให้อายุไว้เป็นยุคดีโวเนียนตอนบนถึงยุคคาร์บอนิเฟอรัส แต่ได้รับการพิจารณาใหม่เป็นยุคเพอร์เมียนตอนล่าง

 


          ๖. กลุ่มหินราชบุรี (Ratburi Group)

 

          กลุ่มหินราชบุรี ในเขตจังหวัดสตูล ยังไม่มีรายงานการศึกษาเผยแพร่อย่างเป็นทางการ มีเพียงรายงานของกรมทรัพยากรธรณีได้พิจารณาให้เขาทะนาน ซึ่งเป็นเขาหินปูนอยู่ในเขตตำบลทุ่งบุหลัง อำเภอทุ่งหว้า เป็นหินปูนของกลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมียน โดยได้รายงานการพบซากดึกดำบรรพ์ของแบรคิโอพอด ไบรโอซัว และพลับพลึงทะเล อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่ามีการพบซากดึกดำบรรพ์ฟิวซูลินิด ในหินปูนที่เกาะลิดีเล็ก (รูปที่ ๑๕) โดยหินปูนดังกล่าวพบว่ามีหินโคลน หินทราย และหินดินดานรองรับอยู่ด้านล่างสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน บริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะลิดีเล็ก และหินดังกล่าวได้แผ่กระจายกว้างออกไปจนถึงเกาะหว้าหิน ลักษณะการลำดับชั้นหินดังกล่าวนี้อาจสังเกตได้ที่เขาหนุ่ย ในเขตตำบลนาทอนด้วย

 


รูปที่ ๑๕ (บนซ้าย ขวา)หินปูนบนเกาะลิดีเล็กที่พบฟิวซูลินิด

          ๗. หินแกรนิตยุคไทรแอสซิก(Triassic granite)

               พื้นที่จังหวัดสตูล มีหินอัคนีแทรกซอนพวกแกรนิตโผล่ให้เห็นบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะ เป็นพื้นที่ภูเขา นอกจากนี้ยังพบโผล่เป็นเกาะ ๓ เกาะ คือ เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะหลีเป๊ะ

รูปที่ ๑๖ แสดง หินแกรนิตยุคไทรแอสซิกเกาะหลีเป๊ะ

          ๘. ตะกอนร่วนยุคควอเทอร์นารี (Quaternary sediments)

                       ตะกอนร่วนพบแผ่กระจายตัวกว้างขวางบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างพื้นที่หุบเขาที่มีธารน้ำไหลผ่าน เชิงเขาที่ขนานไปกับชายฝั่งทะเลออกไปจนถึงแนวชายฝั่งทะเล มีสภาพแวดล้อมการเกิดที่แตกต่างกันไปที่หลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่เนินเขาและภูเขา (isolated hills and mountains) พื้นที่ตะพักลุ่มน้ำเก่าและที่ราบลอนคลื่น(terraces and undulating upland) ที่ราบตะกอนน้ำพา (alluvial plain) ที่ราบน้ำขัง(abandoned channels) ที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain) ดินดอนสามเหลี่ยมในที่ราบน้ำท่วม (deltaic-flood plain) สันทรายเดิม (former beach ridge) หาดทรายและเนินทราย (beach ridge and dune) พื้นที่น้ำขึ้นถึง (tidal flat) และที่ราบงอกพอกพูน (accretionary plain) ตะกอนร่วนเหล่านี้เกิดการสะสมตัวและพัฒนาขึ้นมาในช่วงยุคควอเทอร์นารี ตั้งแต่ ประมาณ ๒.๕๘ ล้านปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน

บรรณานุกรม

 ทรงภพ  วารินสะอาด. (ม.ป.ป.). อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark). จังหวัดสตูล : ม.ป.ท. (อัดสําเนา)
                    ที่ทำการปกครองจังหวัดสตูล.(2562). เอกสารประกอบการอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เกี่ยวกับอุทยานธรณีโลก   
                                   สตูลแก่ข้าราชการฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดสตูล. 
จังหวัดสตูล : ที่ทำการปกครองจังหวัดสตูล.
                   คณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณี. อุทยานธรณี. สืบค้น
                                   เมื่อ 1 พฤษภาคม 2563, จาก https://www.geopark-thailand.org/unesco-global- geoparks 

 

 



 

 



 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ