ลักษณะทางธรณีวิทยา
ลักษณะทางธรณีวิทยาประเทศไทย
ประเทศไทยประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็ก (ในภาษาอังกฤษมีหลายคำที่ใช้เรียกคำ คือ plate, block, craton, microcontinent แต่ปัจจุบันนิยมคำว่า terrane) ซึ่งเป็นแนวรอยตะเข็บ(suture) ที่เชื่อมต่อกัน ๒ แผ่นคือ แผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและ แผ่นเปลือกโลกอินโดจีนซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ดังรูปที่ ๑
รูปที่ ๑ แสดงแผ่นเปลือกโลกประเทศไทย
(อ้างถึงhttp://www.dmr.go.th/main.php?filename=index_geo เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑)
พื้นที่ของแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทยครอบคลุมบริเวณด้านตะวันออกของประเทศพม่าบริเวณภาคเหนือภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงบริเวณประเทศมาเลเซีย และบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตราด้วย พื้นที่ของแผ่นเปลือกโลกอินโดจีนครอบคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกของประเทศไทย บริเวณประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศกัมพูชา รวมถึงบางส่วนของประเทศเวียดนามด้วย พื้นที่ประเทศไทยที่อยู่ในส่วนของแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทยรองรับด้วยหินตั้งแต่มหายุคพรีแคมเบรียน (๔๕๐๐ - ๕๔๔ ล้านปี) มหายุคพาลีโอโซอิก (๕๔๔-๒๔๕ ล้านปี) มหายุคมีโซโซอิก(๒๔๕-๖๕ ล้านปี) และมหายุคซีโนโซอิก (๖๕ ล้านปี-ปัจจุบัน) เป็นส่วนใหญ่ แต่ในส่วนของแผ่นเปลือกโลกอินโดจำจีนรองรับด้วยหินมหายุคพาลีโอโซอิก มหายุคมีโซโซอิก และมหายุคซีโนโซอิกเป็นส่วนใหญ่ แผ่นเปลือกโลกอินโดจีนและชาน-ไทย เคยมีประวัติว่าแยกตัว ออกจากแผ่นเปลือกโลกกอนด์วานาหรือบริเวณประเทศออสเตรเลียในปัจจุบัน
การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดียเข้ามาชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในช่วงยุคเทอร์เชียรี ทำให้ชั้นหินของแนวสุโขทัย (Sukhothai Fold Belt) และชั้นหินแนวเลย-เพชรบูรณ์ (Loei-Petchabun Fold Belt) ซึ่งอยู่ระหว่างขอบรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทยและอินโดจีนเกิดการคดโค้งตัว และพัฒนาเกิดแนวรอยเลื่อนที่สำคัญในประเทศไทยหลายแนว อาทิ รอยเลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip fault) ในทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รอยเลื่อนแม่ปิง รอยเลื่อนจำดีย์สามองค์ และในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้เช่น รอยเลื่อนอุตรดิตถ์-น่านรอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะลุ่ย เป็นต้น
ตารางที่ ๑ แสดงหมวดหินจังหวัดสตูลเปรียบเทียบกับเกาะลังกาวี