หน้าหลัก |► ธรณีวิทยาและการอนุรักษ์ | 2 ธรณีวิทยาและการอนุรักษ์ |► 2.3 แหล่งธรณีวิทยาจังหวัดสตูล |
ธรณีวิทยาและการอนุรักษ์

  

แหล่งธรณีวิทยาจังหวัดสตูล
        

 

จังหวัดสตูลมีแหล่งธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพ ประกอบด้วย แหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับ แหล่งหินแบบฉบับ แหล่งแร่แบบฉบับ แหล่งธรณีสัณฐาน แหล่งธรณีวิทยาโครงสร้าง แหล่งซากดึกดำ บรรพ์ แหล่งนิเวศน์วิทยาที่น่าสนใจมีหลายแหล่ง อาทิ เช่น หินสาหร่าย อ่าวหินเฉลียงลานหินปุ่ม ถ้ำจระเข้ เกาะหินงาม หาดกรวดดนตรีหาดทรายดูด หาดทรายดำ หาดพัทยา และเขาโต๊ะหงาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแหล่งอื่น ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น แหล่งโบราณคดี แหล่งพิพิธภัณฑ์ แหล่งธรรมชาติหลายแหล่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักใน ระดับชาติ ถือเป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดสตูลและมีศักยภาพในการสนับสนุนการเรียนรู้ทางธรณีวิทยาของนักเรียน นักศึกษา นักวิจัย นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ประกอบด้วยแหล่ง ๙ ประเภท คือ แหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับ แหล่งหินแบบฉบับ แหล่งธรณีโครงสร้าง แหล่งธรณีสัณฐาน แหล่งแร่แบบฉบับ แหล่งซากดึกดำ บรรพ์ แหล่งโบราณคดี แหล่ง นิเวศวิทยา และพิพิธภัณฑ์

๑. แหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับ

 

         แหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับ หมายถึง ลำดับชั้นหินใด ๆ ที่ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานเพื่อใช้

อ้างอิงในการนิยามลำดับชั้นหิน โดยมีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์และบอกขอบเขตบนและล่างของลำดับชั้น หินนั้นด้วย ชื่อของชั้นหินแบบฉบับใด ๆ จะตั้งขึ้นตามชื่อท้องถิ่นของชั้นหินแบบฉบับนั้น ๆ จังหวัดสตูลมีแหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับหลายแหล่งตัวอย่าง เช่น

            ๑.๑ ลำดับชั้นหินเขาน้อย

       ลำดับชั้นหินเขาน้อย เป็นเนินเขาเตี้ยๆ เป็นพื้นที่แบบฉบับของหมวดหินป่าแก่ที่วางตัวอยู่ทางด้านล่างและหมวดหินวังตงที่วางตัวอยู่ทางด้านบนอย่าง หมวดหินป่าแก่มีความหนา ๖๖ เมตร วางตัวเอียงเทไปทางทิศใต้ เป็นหินปูนสีแดงค่อนข้างเป็นชั้นบางจนถึงชั้นบางมาก ๆ มีชั้นเนื้อดินสีแดงเข้มแทรกสลับ พบเศษ ซากดึกดำ บรรพ์ของพลับพลึงทะเลจำนวนมาก มีลักษณะของโครงสร้างสโตรมาโตไลต์ ด้านบนโดดเด่นด้วยชั้น หินปูนเนื้อเม็ดปูน พบซากดึกดำ บรรพ์ของไทรโลไบต์ นอติลอยด์ พลับพลึงทะเล และแบรคิโอพอด ยุคออร์โดวิเชียนตอนปลาย

 

ลำดับชั้นหินเขาน้อยหมวดหินป่าวางตัวอยู่ตอนล่าง หมวดหินวังตงวางตัวอยู่ทางด้านบน


           ๑.๒ ลำดับชั้นหินแบบฉบับควนทัง

 

      ลำดับชั้นหินแบบฉบับควนทัง เป็นเนินเขาเตี้ยๆอยู่ทางด้านตะวันตกของถนนสาย ๔๑๖ ด้านเหนือเป็นที่ต่ำ ถัดลงมาทางตอนใต้เป็นเนินเตี้ยๆเรียกว่า ควนทัง และทางด้านใต้ต่อเนื่องลงไปเป็นพื้นที่ลาดต่ำมีสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ความกว้างของพื้นที่ในแนวตะวันตก-ตะวันออกประมาณ ๘๐ เมตร ความยาวในแนวเหนือ-ใต้ประมาณ ๒๕๐ เมตร อยู่จากอำเภอละงูไปทางด้านเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๙.๕ กิโลเมตร เป็นพื้นที่แบบฉบับของหมวดหินควนทังที่วางตัวอยู่ทางด้านล่างและมีหมวดหินป่าเสม็ดปิดทับอยู่ด้านบน มีสภาพเป็นเนินที่เป็นเหมืองหินร้างมีหินโผล่ให้ศึกษาชัดเจน พบทั้งซากดึกดำ บรรพ์และอยู่ติดถนนหลัก สะดวกในการเข้าถึง

 



ลำดับชั้นหินแบบฉบับควนทัง

๑.๓ ลำดับชั้นหินแบบฉบับเกาะลิดีเล็ก

                 ลำดับชั้นหินแบบฉบับเกาะลิดีเล็ก เกาะลิดีเล็กอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะลิดีใหญ่ โดยอยู่ห่างจากเกาะลิดีใหญ่ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ เมตร อยู่ห่างจากท่าเทียบเรืออ่าวนุ่นไปทางทิศใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากท่าเทียบเรือปากบาราไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๙ กิโลเมตร

 

                  เกาะลิดีเล็กเป็นเกาะที่มีขนาดเนื้อที่ประมาณ ๐.๒๕ ตารางกิโลเมตร มีภูเขาหินปูน ๒ ลูก ลูกด้านตะวันตกมีขนาดใหญ่มียอดสูง ๑๐๔ เมตร ส่วนลูกด้านตะวันออกมีขนาดเล็กกว่ามากมียอดสูงประมาณ ๕๐ เมตร พื้นที่ระหว่างภูเขาสองลูกเป็นพื้นที่ราบเป็นดินทรายแผ่ออกไปจนเป็นหาดทรายทั้งทางด้านเหนือและทางด้านใต้ บนพื้นที่ราบนี้เป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภต.๒ (เกาะลิดี) และมีหินปูนโผล่เป็นหย่อมเล็ก ๆ ที่หย่อมหินโผล่หนึ่งพบซากดึกดำ บรรพ์ฟิวซูลินิด นอกจากนี้ ยังสามารถเดินเลียบชายฝั่งทะเลรอบภูเขาลูกใหญ่เป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ชมหินโผล่ โครงสร้างทางธรณีวิทยา ซากดึกดำ บรรพ์ และพืชพรรณป่าไม้ ริมทะเลที่ยังคงความสมบูรณ์ ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราได้พัฒนาพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวด้วยการสร้างท่าเทียบเรือและสะพานเดินเท้าเชื่อมไปยังเกาะ จึงถือเป็นสวรรค์กลางทะเลเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยาแบบเกาะในเขตร้อนชื้น


ลำดับชั้นหินแบบฉบับเกาะลิดีเล็ก

        ๒. แหล่งหินแบบฉบับ

 

           ๒.๑ แหล่งหินแบบฉบับหินสาหร่าย ที่ตั้ง อยู่บ้านทุ่งเสม็ด ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีลักษณะเป็นกลุ่มของก้อนหินปูนสีแดงอิฐ กระจายตัวเป็นหย่อมตามสองข้างทางของถนน บางก้อนมีลักษณะเป็นแท่ง ซึ่งเป็นผลจากการที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ขุดดินลูกรัง ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ x ๑๐๐ เมตร ลักษณะธรณีวิทยา เป็นแหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับของหมวดหินป่าแก่ ซึ่งเป็นหมวดหิน ที่อยู่บนสุดของกลุ่มหินทุ่งสง ประกอบไปด้วยหินปูนสีแดงชั้นบางแทรกสลับด้วยหินโคลนชั้นบางมากสีน้ำตาลเข้ม ทำให้มองเห็นเนื้อหินเป็นชั้นบาง ๆ สีแดงสลับกับน้ำตาลเข้ม โดยชั้นสโตรมาโตไลต์น้ำตาลเข้มเรียกว่าชั้นสโตรมาโต ไลต์ (stromatolite) ซึ่งเกิดจากการเกาะกลุ่มเป็นชั้นไบโอฟิล์ม (Biofilm) ของสารอินทรีย์ขนาดเล็กจำพวก cyanobacteria หรือที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่พบในทะเลตื้น

แหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับของหมวดหินป่าแก่

 

(ที่มา http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑)

๒.๒ หินคลองห้วยบ้า

 

 

 

         หินคลองห้วยบ้า ตั้งอยู่ บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล พื้นที่แหล่งเป็นลำธารมีน้ำไหลจากทางด้านตะวันออกไปทางด้านตะวันตก ลำธารเป็นเขตแดนแบ่งพื้นที่ระหว่างตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้าและตำบลกำแพง อำเภอละงู ซึ่งด้านใต้พบหินโผล่อยู่ตามลำธารครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๓ x๑๐๐ ตารางเมตร ห่างจากอำเภอละงูไปทางเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๑๑ กิโลเมตร พื้นที่แหล่งเป็นลำธารไหลไปตามโขดหินและมีน้ำตกเล็ก ๆ ที่สวยงาม หินที่โผล่มีลักษณะ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ระบุหมวดหินได้และสามารถหาความสัมพันธ์กับหมวดหินในพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องออกไปได้ หากพัฒนาเป็นแหล่งธรณีวิทยา จะได้ทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจด้วย

 


หินคลองห้วยบ้า

  ๒.๓ ลานหินป่าพน

         ลานหินป่าพน ตั้งอยู่ โรงเรียนบ้านป่าพน หมู่ ๖ ตำบลบ้านป่าพน อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เป็นพื้นที่สวนหย่อมในเขตโรงเรียนบ้านป่าพน ด้านเหนือและ  มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๔๐ x ๔๐ ตารางเมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอมะนังไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร พื้นที่แหล่งมีลักษณะเป็นสวนหย่อมประกอบไปด้วยก้อนหินที่มีการจัดวางที่ยังคงรักษาตำแหน่งดั้งเดิมตามธรรมชาติเอาไว้ได้ มีการจัดภูมิทัศน์เพื่อเพิ่มความสวยงาม จัดทำทางเดินเท้าแบบเส้นทางเดินคอนกรีตแคบ ๆ กว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร มีการจัดสร้างสระน้ำจำลองอยู่ทางใต้ของแหล่ง ก้อนหินเป็นหินปูนแสดงชั้นชัดเจนที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวทางธรณีวิทยาได้

ชั้นหินสาหร่ายสโตรมาโตไลต์โรงเรียนบ้านป่าพน

(ที่มา http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑)

 


๒.๔ หินสาหร่ายท่าแร่
              หินสาหร่ายท่าแร่ ที่ตั้ง บ้านป่าฝาง ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่แหล่งเป็นลำธารสายเล็ก ๆ ขนาดความกว้างประมาณ ๖-๗ เมตร ไหลจากทิศเหนือลงใต้เป็นระยะทางประมาณ ๕๐ เมตร เลียบขนานไปกับถนนคอนกรีตเสริมเหล็กด้านตะวันตกของบ้านป่าฝาง พื้นที่แหล่งมีหินโผล่ของหมวดหินป่าแก่บริเวณสองฝั่งลำธารรวมถึงขวางแนวลำธาร หมวดหินป่าแก่ที่โผล่ให้เห็นมีความสวยงามโดดเด่นมีการลำดับชั้น สวยงาม   

 

             

หินสาหร่ายท่าแร่เห็นนอร์ติลอยต์สีขาว

 

(ที่มา http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑)

๓. แหล่งธรณีสัณฐาน

    ธรณีสัณฐาน(Geomorphology) หมายถึง ธรณีวิทยาที่ว่าด้วยพื้นผิวของโลก ซึ่งประมวล เอาทั้ง รูปร่างธรรมชาติ กระบวนการเกิด การปรับตัวของพื้นผิวโลก ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่ประสบในปัจจุบัน การสะสมตัว การกัดเซาะจากคลื่น ลม น้ำ หรือคลื่นทะเล การผุพังและการกัดกร่อนโดยน้ำและลมเป็นต้น ในพื้นที่จังหวัดสตูลมีแหล่งธรรมชาติทางธรณีวิทยาประเภทแหล่งธรณีสัณฐานที่มีความโดดเด่นหลายแหล่ง จำแนกเป็น ๔ ประเภท คือ ๑) ประเภทภูเขา ๒) น้ำตก ๓) ถ้ำ และ ๔) ชายหาด

   ๓.๑ แหล่งธรณีสัณฐานประเภทภูเขา

     ๓.๑.๑ เขาทะนาน

      เขาทะนาน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านมะหงัง ตำ บลทุ่งบุหลัง อำเภอทุ่งหว้าจังหวัดสตูล การเดินทางใช้เส้นทางสายสตูล-ละงู-ทุ่งหว้า จากตัวเมืองสตูล ไปสามแยกบ้านฉลุง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๖ เป็นระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร จากนั้นให้ใช้เส้นทาง ๔๑๖ ละงู-ทุ่งหว้า ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๐ ลักษณะเด่นของแหล่งเป็นแหล่งที่มีธรณีสัณฐานสวยงาม เป็นที่ตั้งของภูเขาหินปูนตั้งอยู่กลางหมู่บ้านและมีสระน้ำล้อมรอบสวยงามมากและมีถ้ำเขาทะนานที่เป็นที่อยู่ของค้างคาวนับแสนตัว

 

 

               ลักษณะทางธรณีวิทยา เป็นภูเขาหินปูนลูกโดดยุคเพอร์เมียน (อายุประมาณ ๒๘๐ ล้านปี) ซึ่งโผล่ให้เห็นน้อยมากในพื้นที่จังหวัดสตูลที่ส่วนใหญ่เป็นหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อายุประมาณ ๔๗๐ ล้านปี ) 

 

ทิวทัศน์เขาทะนาน
(ที่มา
http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑)

 ๓.๑.๒ เขาตะบัน

   เขาตะบันหรือเกาะตะบัน เป็นเกาะหินปูนกลางทะเลขนาดเล็กมีขนาดความกว้างประมาณ ๗๐๐ เมตร โดยรอบเกาะเป็นหน้าผาหินปูนสูงชัน จุดสูงสุดประมาณ ๒๐๘ เมตร อยู่ห่างจากปลายแหลมมะหงัง (ตำ บลทุ่งบุหลัง) ไปทางทิศใต้ของเกาะเป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากปากคลองสังหยดไปทางทิศตะวันออกของเกาะเป็นระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร

 

                 ลักษณะทางธรณีวิทยา เกาะตะบันไม่แสดงชั้นหินชัดเจน พบมีโครงสร้างรอย แตกและรอยเลื่อน บ้างมีสายแร่แคลไซต์เข้าไปตกผลึกอยู่ร่องรอยแตกเป็นลักษณะของสายแร่แคลไซต์ (calcite vein)

 

ชายหาดเกาะเขาตะบัน 

๓.๑.๓ เกาะไข่

      เกาะไข่ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของเกาะตะรุเตา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล การเดินทางเข้าถึงแหล่ง จากจังหวัดสตูลไปตามถนน (สตูล -ละงู ) จากละงูต่อไปอีก ๑๐ กิโลเมตร ถึงท่าเทียบเรือปากบารา เดินทางโดยเรือโดยสารหรือเรือเช่า ลักษณะแหล่ง เป็นเกาะขนาดเล็กที่เกิดจากน้ำทะเลกัดเซาะเป็นโพรงใหญ่ รูปประตูโค้งยื่นลงไปในทะเล บริเวณรอบเกาะเป็นหาดทรายขาวละเอียด และรูปประตูโค้งของโขดหินตัดกับหาดทรายเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามมาก ทั้งนี้ทะเลรอบ ๆ เกาะไข่ยังมีแนวปะการังอยู่โดยทั่วไป

 

 

      ลักษณะธรณีวิทยา หินบนเกาะเป็นหินตะกอนอายุแคมเบรียน บริเวณที่เป็นซุ้มหินธรรมชาตเป็นบริเวณที่มีแนวรอยเลื่อนผ่าน ทำให้เกิดรอยแยก (joint) รอยแตก (fracture) มาก ส่งผลให้หินในบริเวณนั้นมีความคงทนต่อการผุพังน้อยกว่าบริเวณอื่น เมื่อถูกน้ำทะเลกัดเซาะและถูกแรงคลื่นกระทบนานไปจึงเกิดเป็นโพรงตามที่เห็นในปัจจุบัน 


เกาะไข่

๓.๒ แหล่งธรณีสัณฐานประเภทน้ำตก

      ๓.๒.๑ น้ำตกวังสายทอง ที่ตั้งบ้านวังนา หมู่ที่ ๑๐ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล

      ลักษณะทางธรณีวิทยา หินพื้นที่เป็นหินปูนของหมวดหินรังนก กลุ่มหินทุ่งสงยุคออร์โดวิเชียนเนื่องจากสายน้ำของน้ำตกวังสายทองไหลผ่านพื้นที่หินปูน น้ำผิวดินซึ่งมีความเป็นกรดเล็กน้อยอยู่จึงละลายหินปูนระหว่างเส้นทางที่น้ำผ่าน เมื่อความชันของสายน้ำเปลี่ยนแปลงบริเวณน้ำตกหินปูนละลายอยู่ในน้ำจึงตกตะกอนอีกครั้งในรูปแบบของอ่างหินปูนขนาดเล็กดังที่เห็นบริเวณหน้าน้ำตก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด

 

 

       

 

น้ำตกวังสายทอง ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล

      ๓.๒.๒ น้ำตกธารปลิว ที่ตั้ง น้ำตกธารปลิว ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๗ ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ๑๐ กิโลเมตร จังหวัดสตูล ลักษณะแหล่ง เป็นน้ำตกที่เกิดจากธารน้ำลอดออกมาจากใต้หุบเขาหินปูน ตัวน้ำตกมี ๒ ชั้นโดยด้านบนของน้ำตกทั้ง ๒ ชั้นเป็นแอ่งน้ำกว้าง

       ลักษณะธรณีวิทยา หินพื้นที่เป็นหินปูนของหมวดหินรังนก กลุ่มหินทุ่งสงยุคออร์โดวิเชียน เนื่องจากสายน้ำของน้ำตกธารปลิวไหลผ่านพื้นที่หินปูนน้ำผิวดินซึ่งมีความเป็นกรดเล็กน้อยอยู่จึงละลายหินปูนระหว่างเส้นทางที่น้ำผ่าน เมื่อความชันของสายน้ำเปลี่ยนแปลงบริเวณน้ำตกหินปูนละลายอยู่ในน้ำจึงตกตะกอนอีกครั้งทำให้เกิดเป็นอ่างน้ำหินปูนขนาดใหญ่บนน้ำตกทั้ง ๒ ชั้น 

        น้ำตกธารปลิว ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

      ๓.๒.๓ น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกธารสวรรค์ ที่ตั้ง บ้านราวปลา ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เป็นน้ำตกอยู่ในทางน้ำสาขาที่เป็นต้นน้ำไหลไปลงคลองราวปลา อยู่ห่างจากบ้านราวปลาไปทางตะวันออกเฉียง เหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นลำธารกว้างประมาณ ๒๐ เมตร

 

      น้ำตกธารสวรรค์เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยซึ่งไหลผ่านพื้นที่หินปูนแล้วนำ พาสารละลาย แคลเซียมคาร์บอเนตและตะกอนแขวนลอยมาพอกตัวสะสมบริเวณน้ำตก จนเกิดลักษณะคล้ายทำนบ ไหลลดหลั่นกันลงมาอย่างสวยงาม พื้นที่น้ำตกเป็นหินปูนเนื้อละเอียด สีเทา หินปูนบริเวณนี้มีลักษณะเป็นชั้นชัดเจน ชั้นหินมีการวางตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยมุมเอียง ๑๘ องศา (๒๙๒/๑๘) น้ำตกธารสวรรค์ประกอบด้วยน้ำตก ๒ ชั้น คือน้ำตกชั้นบนเป็นน้ำตกขนาดเล็กมีความสูงประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๒๕ เมตร อยู่ห่างจากน้ำตกชั้นล่างประมาณ ๒๐ เมตร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนน้ำตกชั้นล่าง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร ความกว้างของลานด้านบนน้ำตก ประมาณ ๒๐ เมตร




น้ำตกธารสวรรค์

๓.๓ แหล่งธรณีสัณฐานประเภทถ้ำ

     ๓.๓.๑ ถ้ำจระเข้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะตะรุเตา ตำบลเกาะ สาหร่าย อำเภอเมืองจังหวัดสตูล เริ่มตั้งแต่แหลมจระเข้ฝั่งตรงข้ามท่าเรือบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตาไปตามคลองพันเตมะละกา ระยะทางประมาณ ๒.๕

 

                ลักษณะธรณีวิทยาตามฝั่งคลองจะพบหินปูนออร์โดวิเชียน ในหมวดหินมะละกา ซึ่งเป็นหมวดหินที่วางตัวอยู่ล่างสุดของกลุ่มหินทุ่งสง ประกอบด้วยหินปูนเนื้อดินสลับกับหินปูนเนื้อหินส่วนใหญ่ถูกรบกวนด้วยสิ่งมีชีวิต (bioturbation) มีระแหงโคลน (mud crack) อยู่ทั่วไปพบแผ่นซากดึกดำบรรพ์พวกสาหร่าย(algalmat) และซากดึกดำบรรพ์พวกเพรียงเป็นต้น การวางตัวของชั้นหินสอดคล้องกับหินของกลุ่มหินตะรุเตา

ถ้ำจระเข้ อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา

(ที่มา http://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=1850

เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๖พฤษภาคม ๒๕๖๑) 

      ๓.๓.๒ ถ้ำเลสเตโกดอน (ถ้ำวังกล้วย) ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๗ บ้านคีรีวง ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล การเดินทางจากจังหวัดสตูลไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๑๖ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดตรัง ประมาณ ๘๗ กิโลเมตร จากนั้นผ่านบ้านคีรีวง ๑ กิโลเมตรแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถ้ำเลสเตโกดอน

 

 

      ลักษณะธรณีวิทยา ธรณีวิทยาเป็นถ้ำหินปูนออร์โดวิเชียนที่เกิดจากการกัดเซาะ ทำให้เกิดโพรงตามบริเวณรอยแตกภายในถ้ำ เมื่อน้ำไหลผ่านหินปูนละลายเอาแคลเซียมคาร์บอเนตแล้วตกผลึกกลายเป็นหินงอกหินย้อย พบซากดึกดำบรรพ์ซากกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกราม ซี่ที่ ๒ และ ๓ ด้านล่างขวาของช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอน อายุประมาณ ๑.๘-๐.๐๑ ล้านปีมาแล้ว อยู่ในยุคไพลสโตซีน



หินย้อยภายในถ้ำเลสเตโกดอน ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

(ที่มา http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑)

        ๓.๓.๓ ถ้ำเจ็ดคต ตั้งอยู่บริเวณบ้านป่าพน หมู่ที่ ๖ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูลอยู่ด้านทิศเหนือของน้ำตกวังสายทองห่างประมาณ ๒ กิโลเมตร

 

             ลักษณะธรณีวิทยา เป็นถ้ำน้ำลอดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หินปูนของหมวดหินรังนก กลุ่มหินทุ่งสง 

 



 

ถ้ำเจ็ดคต ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
(ที่มา
http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑)

                  ๓.๓.๔ ถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่บริเวณบ้านควนดินดำ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนังจังหวัดสตูล สามารถเดินทางโดยรถยนต์ไปยังตำบลปาล์มพัฒนา ถ้ำอยู่ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนาไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๘ กิโลเมตร

 

      ลักษณะธรณีวิทยา หินบริเวณถ้ำภูผาเพชรเป็นหินปูนสีเทาดำ กลุ่มหินทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียน โดยตัวถ้ำที่เกิดจากการละลายของหินปูนโดยน้ำจากทางน้ำใต้ดินที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย ต่อมามีการยกตัวของเปลือกโลกทำให้ถ้ำที่เกิดอยู่ใต้พื้นดินค่อยๆ ยกตัวสูงขึ้น ทำให้ถ้ำในปัจจุบันมีหลายระดับโดยสามารถสังเกตได้ว่าชั้นล่างสุดของถ้ำยังพบทางน้ำใต้ดินที่ไหลอยู่ 



 

หินงอกหินย้อยภายในถ้ำภูผาเพชร
(ที่มา
http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑)

๓.๔ แหล่งธรณีสัณฐานประเภทชายหาด

     ๓.๔.๑ หาดกรวด เกาะหินงาม ตั้งอยู่บริเวณเกาะหินงาม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอาดัง ตำบลเกาะสาหร่ายอำเภอเมือง จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ตามแนวชายหาด เข้าถึงโดยทางเรือจากที่ตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาถึงแหล่งท่องเที่ยวประมาณ ๖ กิโลเมตร ลักษณะของแหล่งเป็นแหล่งกรวดมนกลมสีดำ แข็งมาก มีหลายขนาดตั้งแต่ ๑ x ๑ เซนติเมตร ถึง ๕๐ x ๕๐ เซนติเมตร กองรวมกันอยู่และเลยลงไปในทะเลริมเกาะ เกิดจากการผุพังของหินอายุกว่า ๓๐๐ ล้านปี ในบริเวณนั้นโดยการกัดกร่อนของคลื่นที่รุนแรง

 

        ลักษณะธรณีวิทยา เป็นหินฮอร์นเฟล (hornfel) ที่หินเดิมเป็นหินในหมวดหินแหลมไม้ไผ่ในกลุ่มหินแก่งกระจาน ประกอบด้วยหินโคลน หินทรายแป้ง และหินทราย โดยที่เห็นเป็นลวดลายนั้น เป็นชั้นของหินทรายแป้งที่แทรกอยู่ในหินโคลน เมื่อหินแกรนิตแทรกขึ้นมาในยุคไทรแอสซิก สัมผัสกับหินในหมวดหินแหลมไม้ไผ่ ทำให้หินแหลมไม้ไผ่บางส่วนมีการแปรสภาพแบบสัมผัส (contact metamorphism)กลายหินหินฮอร์นเฟลดังกล่าว ซึ่งต่อมาโดยกระบวนการ การผุพังอยู่กับที่ (weathering) และ การกร่อน(erosion) โดยสภาพอากาศและการกระทำของคลื่น (wave action) ที่รุนแรงทุกทิศทางกระทำต่อหินที่แตกหักเกิดการขัดเกลาจนกลมมนสะสมตัวอยู่บริเวณนั้น เกาะหินงาม นับเป็นอีกหนึ่งชายหาดที่มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องของหาดหินกรวด และอยู่ใกล้กับหาดต่าง ๆ ในบริเวณเกาะอาดัง 


 

หาดหินงาม
(ที่มา
http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑) 

 

      ๓.๔.๒ หาดปากบารา ตั้งอยู่บริเวณบ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล การเข้าถึงจากอำเภอเมืองสตูล ไปตามถนน ๔๑๖ (สตูล -ละงู ) ถึงอำเภอละงูไปตามถนน ๔๐๕๒ (ละงู - ปากบารา)ระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ก่อนถึงท่าเทียบเรือปากบารา (รูปที่ ๓๕) ลักษณะแหล่ง เป็นชายหาดที่มีการทับถมของทราย โครงสร้างจากธรรมชาติ ที่หายากและสวยงาม เป็นชายหาดทรายสีขาวละเอียดเป็นแนวยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร

 

 

         ลักษณะธรณีวิทยา เป็นชายหาดที่สะสมตัวจากตะกอนทางน้ำที่เกิดขึ้นบริเวณปากแม่น้ำมีเขาหินปูนอยู่รอบ ๆ ชายฝั่งทะเลการใช้ประโยชน์ที่ดิน หาดปากบาราเป็นหาดที่ยาวเม็ดทรายหยาบและไม่ขาวนักสามารถลงเล่นน้ำได้เป็นบางช่วง ทิวทัศน์ในท้องทะเลสวยงาม ด้านเหนือหาดจัดเป็นสถานที่พักผ่อนมีร้านค้าสวนสาธารณะ และที่พัก เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม


 

หาดปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล
(ที่มา http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑) 

 

      ๓.๔.๓ หาดราไว ตั้งอยู่บริเวณบ้านราไว ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล บริเวณพิกัดการเข้าถึงเดินทางตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๗๘ (ละงู - ทุ่งหว้า ) กิโลเมตร ที่ ๒๒ แยกซ้ายเข้าถนนทางหลวงชนบท(นาทอน-มะทั้ง ) อีก ๕ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก ๘ กิโลเมตร

                   ลักษณะแหล่ง เป็นชายหาดที่ยาวที่สุดของจังหวัดสตูล เป็นชายหาดทรายสีปนโคลน มีเศษเปลือกหอยและเปลือกหอยสีขาวกระจายทั่วชายหาด ในช่วงน้ำขึ้นน้ำลงจะเห็นคราบของเศษเปลือกหอยกระจายอยู่อย่างชัดเจน เป็นระยะทางยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร มองด้านหน้าชายหาดจะเป็นเกาะหลายเกาะลักษณะธรณีวิทยา เป็นชายหาดที่สะสมตัวด้วยตะกอน มีป่าชายเลน และภูเขาหินปูนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทำให้มีการจัดภูมิทัศน์ใหม่บริเวณหาดมีสวนสาธารณะ ที่พักผ่อนสำหรับนักท่องเที่ยว เหมาะสำหรับผู้รักธรรมชาติ



ชายหาดสีดำ หาดราไว ตำบลขอนคลาน
(ที่มา
http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑)

       ๓.๔.๔ หาดกรวดเสียงดนตรี เป็นแหล่งธรณีสัณฐานซึ่งมีลักษณะเด่นคือเป็น หาดกรวดอย่างเดียว ที่กรวดแต่ละก้อนมีสีสันสวยงามมาก ให้ชื่อแหล่งธรณีวิทยาบริเวณนี้ว่า “หาดกรวดเสียง ดนตรี อ่าวด่าน”ที่ตั้ง อยู่บริเวณอ่าวด่าน บนเกาะตะรุเตา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูลมีความยาว ๑ กิโลเมตรตามแนวชายหาด เข้าถึงได้ทางเรือห่างจากที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาประมาณ ๒๙ กิโลเมตร

         ลักษณะของแหล่ง หาดกรวดค่อนข้างกลมมนสีน้ำตาลคล้ายช็อกโกแลต มีหลายขนาดวางตัวยาวตามแนวชายฝั่งเป็นระยะประมาณ ๑ กิโลเมตร เมื่อมีคลื่นซัดเข้าออกจะมีเสียงดังคล้ายเสียงดนตรีเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หาได้ยากมาก เกิดจากคลื่นได้พัดพากรวดที่มีขนาดเล็กขึ้นมาแล้วกลับลงไปกระทบกับกรวดก้อนใหญ่ซึ่งคลื่นไม่สามารถพัดออกไปได้ ทำให้เกิดเสียงคล้ายเสียงดนตรี

       ลักษณะธรณีวิทยา กรวดบริเวณหาดมีหลายขนาดคละเคล้ากัน โดยมากจะเป็นกรวดหินทราย มีความกลมมนดีถึงดีมาก บริเวณทิศตะวันออกของหาดพบชั้นหินทรายสลับหินดินดาน หินทรายจะมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลแกมแดง พบซากดึกดำบรรพ์ ได้แก่ไทรโลไบต์ และแบรคิโอพอด เป็นต้น 



รูปมุมกว้างหาดกรวดเสียงดนตรี อ่านด่าน เกาะตะรุเตา


           ๓.๔.๕ หาดทรายดูดเกาะอาดัง ตั้งอยู่บริเวณอ่าวตะโล๊ะแลซึ่งอยู่ทางทิศตะวัน ตกออกของบริเวณเกาะอาดัง ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ชายหาดมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร การเข้าถึงโดยทางเรือจากที่ตั้งอุทยานถึงชายหาดประมาณ ๖ กิโลเมตร ลักษณะของแหล่ง บริเวณที่เป็นหาดทรายดูดเป็นหาดทรายแคบๆ สั้น ๆ ยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร ลักษณะเหมือนกับหาดทั่วไป ประกอบด้วยทรายละเอียด สีขาวอมน้ำตาล มีเศษเปลือกหอยปนเล็กน้อย แต่มีลักษณะเด่นคือ เมื่อเหยียบลงไป แล้ว เท้าจะจมประมาณ ๒๐-๖๐ เซนติเมตร บริเวณที่มีน้ำจะจมมากกว่าบริเวณที่แห้ง และมีฟองอากาศผุดขึ้นมา ค่อนข้างมาก เกิดทุกฤดูตลอดทั้งปี นอกจากนี้ทรายเหล่านี้ยังสามารถปั้นเป็นก้อนกลมได้ ซึ่งแสดงถึงขนาดของตะกอนทรายบริเวณนี้ 

 

       ลักษณะธรณีวิทยา หาดทรายบริเวณนี้ประกอบด้วยตะกอนของหินทรายแป้ง มีโคลนปนบ้างเล็กน้อย เกิดจากการผุพังของหินตะกอนยุคคาร์บอนิเฟอรัส -เพอร์เมียน เมื่ออิ่มตัวด้วยน้ำจะทำให้ยุบลงไปเมื่อมีน้ำหนักกดทับเนื่องจากมีโคลน ทำให้รับน้ำหนักได้ไม่ดี โดยโคลน เหล่านี้จะมาจากการผุพังของหินโคลนในหมวดหินแหลมไม้ไผ่แล้วถูกพัดพามาสะสมตัวบริเวณชายหาดดังกล่าว 
            

 

 

        


 

หาดทรายดูดเกาะอาดัง

ก. ภาพแสดงการเดินบนบนหาดทรายที่ค่อนข้างลำบากเนื่องจากมีดินปนอยู่มาก

ข. ตำแหน่งจุดสำรวจ

ค. ภาพแสดงการผุดขึ้นของฟองอากาศเมื่อเหยียบลงไป

ง. และ จ.แสดงการคงรูปของตะกอนทรายซึ่งมีดินปนอยู่มากไม่สลายง่ายๆ

ฉ.ภาพมุมกว้างของจุดสำรวจ

       (ภาพจากกรมทรัพยากรธรณี ๒๕๕๘)

         ๓.๔.๖ หาดทรายดำเกาะอาดัง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะอาดัง มีลักษณะพิเศษที่เม็ดกรวดทรายจะมีสีดำ สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากร ธรณีให้ชื่อแหล่งธรณีวิทยานี้ว่า “หาดทรายดำเกาะอาดัง ”ที่ตั้งอยู่บริเวณเกาะอาดัง ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ชายหาดมีความยาว ๖๐๐ เมตรตามแนวชายหาด เข้าถึงโดยเดินเท้าจากที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ประมาณ ๑๐๐ เมตร

         ลักษณะของแหล่ง หาดทรายดำบริเวณอ่าวแหลมสน บนเกาะอาดัง มีลักษณะเด่นตรงที่จะมีเม็ดทรายสีดำปนอยู่ในเม็ดทรายสีขาว มีความสวยงามแปลกตาต่างจากหาดทรายทั่วไป โดยเฉพาะหาดทรายบริเวณนี้นอกจากจะมีสีดำแล้ว เม็ดทรายจะมีเม็ดหยาบมีขนาดใหญ่กว่าเม็ดทรายทั่วไป ดังนั้นหากเดินเท้าเปล่าบนหาดแห่งนี้แล้วจะได้ความรู้สึกที่สบายๆ เหมือนกับถูกนวดและขัดฝ่าเท้าไปพร้อม ๆ กัน 

                   ลักษณะธรณีวิทยา ตะกอนสีดำที่พบในบริเวณนี้คาดว่าเป็นแร่ทัวร์มาลีน (Tourmaline)  ที่ผุพังจากหินแกรนิตเนื้อดอก (porphyritic granite) โดยมีผลึกแร่เฟลด์สปาร์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑.๕ x ๒.๕เซนติเมตร เป็นเนื้อดอก (phenocryts) และเนื้อพื้น (groundmass) จะเป็นแร่ควอตซ์ เฟลด์สปาร์ ทัวร์มาลีนและไบโอไทต์ ซึ่งหินแกรนิตเหล่าพบว่านี้จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดแร่ดีบุก การใช้ประโยชน์ที่ดินหาดทรายดำเกาะอาดัง มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องของตะกอนของทรายสีดำ ที่เกิดการผุพังจากหินต้นกำเนิด               

 

 

 

หาดทรายดำเกาะอาดัง

 

                  ก. ภาพมุมกว้างของหาดทรายดำ เกาะอาดัง
                  ข. ตำแหน่งจุดสำรวจ
                  ค. ทรายสีดำ ซึ่งเป็นแร่ทุระมาลี
                  ง. เม็ดทรายเนื้อหยาบซึงเกิดจากการผุพังของหินแกรนิตที่อยู่ใกล้เคียง(ภาพจากกรมทรัพยากรธรณี ๒๕๕๘) 

       ๓.๔.๗ หาดพัทยา เกาะหลีเป๊ะ ตั้งอยู่บริเวณทางทิศเหนือของเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูลบริเวณพิกัด ชายหาดมีความยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร ตามแนวชายหาด เข้าถึงโดยทางเรือจากที่ตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาถึงแหล่งท่องเที่ยวประมาณ ๑ กิโลเมตร 

                   ลักษณะของแหล่ง เป็นหาดทรายที่ขาวสะอาด เม็ดละเอียดมากเวลาเดินด้วยเท้าเปล่าจะรู้สึกนุ่มเท้าเหมือน เดินบนพื้นกำมะหยี่ ชายหาดมีความลาดชันน้อย ดังนั้นจึงสามารถเดินเท้าเปล่าไปชมปะการังที่มีอยู่มากมายได้ ลักษณะธรณีวิทยา ชายหาดบริเวณนี้เกิดจากการผุพังของหินแกรนิตที่แทรกขึ้นมาในยุคไทรแอสซิก มีขนาดทรายแป้งถึงทรายละเอียดมาก สีขาว มีเปลือกหอยและปะการังที่แตกหักบ้าง คลื่นบริเวณนี้จะ ไม่แรง เนื่องจากเป็นแอ่งที่เว้าเข้ามาประมาณ ๑ กิโลเมตร ดังนั้นตะกอนที่ถูกพัดพามาจึงมีขนาดเล็กมาก 


หาดพัทยา เกาะหลีเป๊ะ 

๔. แหล่งธรณีวิทยาโครงสร้าง  (Geological Structures) หมายถึง แหล่งที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยาโครงสร้าง เช่น รอยเลื่อน (Fault) แนวแตก (Joint) และรอยแตก (Fracture) ในเนื้อหินหรือเปลือกโลก หรือแหล่งธรรมชาติที่มีลักษณะรูปร่างที่เป็นผลจากธรณีโครงสร้างดังกล่าว ในพื้นที่จังหวัดสตูลมีแหล่งธรรมชาติทางธรณีวิทยาประเภทแหล่งธรณีวิทยาโครงสร้างที่มีความโดดเด่น

  ๔.๑ เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย เป็นแหล่งธรณีวิทยาประเภทแหล่งธรณี โครงสร้างประเภทรอยเลื่อนที่เป็นรอยต่อระหว่างหินในยุคแคมเบรียนกับยุคออร์โดวิเชียน “เขตข้ามกาลเวลา”ตั้งอยู่เขาโต๊ะหงาย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อำเภอละงู จังหวัดสตูล อยู่ห่างจากที่ตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราประมาณ ๑ กิโลเมตร ตามเส้นทางไปเขาโต๊ะหงาย

 

        ลักษณะของแหล่ง เป็นรอยต่อของช่วงเวลาในอดีต ซึ่งมีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยามากเนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนของหินในยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ในบริเวณนี้นอกจากจะเห็นรอยต่อแล้ว ยังพบการเกิดของหินย้อยที่มีลักษณะเป็นหินปูนฉาบ (flow stone) ที่สวยงามเป็นประกายระยิบระยับ ซึ่งเกิดจากการสะท้อนของแสงไฟที่กระทบหน้าผลึกแร่แคลไซต์

                ลักษณะธรณีวิทยา เป็นรอยต่อของหินทรายและหินดินดานสีแดงในกลุ่มหินตะรุเตายุคแคมเบรียน กับหินปูนสีเทาดำในกลุ่มหินทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียน โดยเป็นรอยต่อแบบรอยเลื่อน (fault contactโดยแนวของรอยเลื่อนจะมีทิศทางใกล้เคียงกับทิศทางการวางตัวของชั้นหิน




เขตข้ามกาลเวลา เขาโต๊ะหงาย
(ที่มา
http://www.satun-geopark.com

  เข้าถึงเมื่อ ๒๐พฤษภาคม ๒๕๖๑)

 ๕. แหล่งแร่แบบฉบับ

    ๕.๑ แหล่งแบไรต์ทุ่งหว้า ที่ตั้ง บ้านราวปลา ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูลแบไรต์ทุ่งหว้าเหมืองแร่แบไรต์ เป็นเหมืองร้างครอบคลุมพื้นที่ ๑.๖๔ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจากบ้านราวปลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอทุ่งหว้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร

            เป็นเหมืองแร่แบไรต์ทิ้งร้าง ที่มีประวัติและร่องรอยการทำเหมืองแร่มาก่อน เป็นพื้นที่เนินสูงแลเห็นทัศนียภาพโดยรอบที่สวยงาม พบร่องรอยการทำเหมืองแร่และมีก้อนแร่แบไรต์ตกหล่นเกลื่อนไปทั่วพื้นที่เหมือง 

           แหล่งแร่แบไรต์ เป็นแหล่งแร่แบบสายแร่ที่แทรกเข้าไปในหินท้องที่ซึ่งเป็นหินปูน เกิดจากสายแร่น้ำร้อน (hydrothermal solution) แทรกเข้ามาตามรอยเลื่อนและรอยแตกของหินปูนยุคออร์โดวิเชียน เกิดเป็นสายแร่ (vein) มีความกว้าง ๒-๕ เมตร ยาวประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ เมตร วางตัวอยู่ในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ (Tulyatid, 1995) จากการประเมินโดยกรมทรัพยากรธรณีพบว่ามีปริมาณทรัพยากรแร่สำรองมีศักยภาพเป็นไปได้ ๒๓,๖๒๕ เมตริกตัน

           พื้นที่แหล่งแร่เป็นพื้นที่ทิ้งร้าง อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด พบเป็นเนินสูงต่ำมีเศษกองดินและก้อนแร่กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ ไม่สามารถสังเกตเห็นตำแหน่งสายแร่ได้อาจถูกฝังกลบโดยเศษดินตะกอน

๖. แหล่งนิเวศวิทยา    

 

๖.๑ ท่าเทียบเรือบ้านท่าอ้อย

           ท่าเทียบเรือบ้านท่าอ้อย ที่ตั้ง บ้านท่าอ้อย ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล พื้นที่แหล่งเป็นท่าเทียบเรือประมง อยู่ริมคลองที่ไหลลงทะเลโดยห่างจากปากน้ำเป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร มีขนาดยาวตามริมคลองประมาณ ๓๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๕๐ เมตร อยู่ห่างจากอำเภอทุ่งหว้าไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร  เป็นท่าเทียบเรือประมง ที่ได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีสนามเด็กเล่น อาคารริมน้ำเพื่อการชมทิวทัศน์ รายล้อมด้วยป่าชายเลนที่สมบูรณ์ และยังเป็นท่าเทียบเรือสำหรับนักท่องเที่ยวที่พายเรือลอดถ้ำเลสเตโกดอน 

             


 

ทิวทัศน์ท่าเรือท่าอ้อย

 

(ที่มา http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๐พฤษภาคม ๒๕๖๑ ) 

  ๖.๒ ล่องแก่งวังสายทอง

         วังสายทอง ที่อยู่ : บ้านวังนา หมู่ ๑๐ ตำ บลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูลน้ำตกวังสายทอง อยู่ในเขตอำเภอละงู แต่อยู่ห่างจากอำเภอมะนังประมาณ ๓ กิโลเมตร อยู่ติดถนนสายทุ่งนางแก้ว-วังสายทองด้านหน้าติดถนนเป็นอาคารหน่วยพิทักษ์ป่าและลานจอดรถ ถัดเข้าไปเป็นสายน้ำที่ได้รับน้ำจากน้ำตก โดยมีการสร้างทางเดินเท้าและสะพานข้ามธารน้ำเพื่อเดินเข้าไปสัมผัสกับน้ำตกที่อยู่ด้านใน พื้นที่โดยรวมประมาณ ๑๐๐ x ๓๐๐ เมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอมะนังไปทางเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร น้ำตกวังสายทอง ถูกค้นพบโดยชาวบ้านเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นน้ำตกชั้น หินปูนขนาดใหญ่เป็นชั้นน้อยชั้นใหญ่ มีความสวยงามและมหัศจรรย์น่าหลงใหล ซึ่งเป็นน้ำตกหินปูนแห่งแรกในภาคใต้ที่เดินแล้วไม่ลื่น พร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่หาดูได้ยาก 


 

 

การล่องแก่งวังสายทอง
(ที่มา
http://www.satun-geopark.com เข้าถึงเมื่อ ๒๐พฤษภาคม ๒๕๖๑)

 ๖.๓ น้ำตกวังใต้หนาน

     น้ำตกวังใต้หนาน ที่อยู่ หน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร ตำ บลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูลเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด มีขนาดเนื้อที่ประมาณ ๑.๕ ตารางกิโลเมตรขอบเขตด้านเหนือสุดอยู่บริเวณวังกลอย ขอบเขตด้านใต้สุดเป็นสำนักงานหน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร ความกว้างของพื้นที่ประมาณ ๑ กิโลเมตรในแนวตะวันตก-ตะวันออก และความยาวของพื้นที่ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตรในแนวเหนือ-ใต้ อยู่ห่างจากอำเภอมะนังเป็นระยะทางประมาณ ๒๘ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ภูเขาปกคลุมด้วยผืนป่าฝนเขตร้อน ที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำมีคลองลำโลนไหลผ่านต่อเนื่องลงไปตามร่องเขาเหนือถ้ำภูผาเพชรไปบรรจบกับคลองมะนัง เป็นพื้นที่ที่ยังคงไว้ด้วยธรรมชาติดั้งเดิม มีภูเขาหินปูนลูกโดดๆขนาดย่อมอยู่ภายใต้ร่มไม้สูงใหญ่ และบ้างก็โผล่ให้เห็นตามลำธาร อีกทั้งมีหินทรายและหินแกรนิตในบางพื้นที่ พื้นที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ บางต้นสูงมากกว่า ๕๐ เมตรและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า ๑ เมตร 


น้ำตกวังใต้หนาน (ที่มา : องค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา)

๗. แหล่งซากดึกดำบรรพ์

    ๗.๑ นอร์ติลอยเขาแดง

          นอร์ติลอยเขาแดง ที่อยู่บ้านท่าแลหลา หมู่ ๒ ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล เขาแดง เป็นภูเขาทอดยาวร่วม ๒.๕ กิโลเมตรในแนวเหนือ-ใต้ จุดที่สูงที่สุดค่อนไปทางด้านเหนือคือ ๒๓๖ เมตร จากระดับทะเล แล้วลาดต่ำลงไปทางใต้ พื้นที่แหล่งอยู่บริเวณเชิงเขาด้านตะวันตกของเขาแดง มีลักษณะเป็นพื้นที่กองตะกอนเชิงเขาลาดเอียงไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะทางไปตามแนวเชิงเขาประมาณเกือบ ๑ กิโลเมตรปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นพื้นที่สวนยางพาราของนางอรุณี เร๊ะนุ้ย อยู่ห่างจากตัวอำเภอละงูไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร พื้นที่แหล่งติดแนวเชิงเขาแดงอยู่ทางด้านตะวันตก เป็นเทือกเขาที่มีหินสีแดงซึ่งเป็นที่มาของชื่อภูเขา โดยมีลักษณะหินและองค์ประกอบของซากดึกดำ บรรพ์ที่อาจใช้เทียบเคียงกับหินในพื้นที่อื่น ๆ ได้ ลักษณะแหล่ง เป็นพื้นที่เชิงเขามีหินก้อนโตๆกองกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้างไปตามแนวเชิงเขา ก้อนหินเหล่านี้เป็นหินปูนสีเทาและสีแดงส้ม มีลักษณะเป็นชั้นและมีโครงสร้างสโตรมาโตไลต์อย่างชัดเจนพบหอยกาบเดี่ยวและนอติลอยด์ในเนื้อหินได้ทั่วไป หินปูนพื้นที่นี้มีลักษณะคล้ายหินปูนหมวดหินป่าแก่ที่แผ่กระจายต่อเนื่องมาจากบ้านท่าแร่ที่อยู่ทางด้านเหนือ 


 

ซากนอร์ติลอยเขาแดง

         ๗.๒ ไทรโลไบต์อ่าวเมาะและ หรืออ่าวหินเฉียง ลานหินปุ่ม

                  ไทรโลไบต์อ่าวเมาะและ หรืออ่าวหินเฉียง ลานหินปุ่ม แหล่งธรรมชาติทางธรณีวิทยานี้ จัดเป็นประเภทแหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับของกลุ่มหินตะรุเตา ชื่อแหล่งนี้ว่า “อ่าวหินเฉียง ลานหินปุ่ม ” ที่ตั้ง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะตะรุเตา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองจังหวัดสตูล อ่าวกว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร เข้าถึงได้ทางเรือห่างจากที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร หรือตามเส้นทางถนนบนเกาะประมาณ ๔ กิโลเมตร ลักษณะของแหล่งอ่าวเมาะและหรืออ่าวหินเฉียง-ลานหินปุ่มประกอบด้วยหาดทรายขาวเนื้อละเอียดทอดตัวไปตามชายฝั่งตะวันตกของเกาะตะรุเตา ยาวเกือบ ๑ กิโลเมตร ด้านใต้ของชายหาดมีชั้นหินที่แก่ที่สุดในประเทศไทยอายุประมาณ ๕๐๐ ล้านปี ซึ่งพบซากดึกดำบรรพ์พวกต้นตระกูลของแมงดาทะเลและหอยสองฝา หินบริเวณนี้บ้างมีสีน้ำตาลบ้างมีสีน้ำตาลปนม่วง มีลักษณะเป็นชั้นเอียงเทลงไปในทะเล บางบริเวณเป็นลานหินที่เต็มไปด้วยรอยแตกรอยแยก และรอยถูกกัดกร่อนจนมีลักษณะเป็นปุ่มปม เป็นรูพรุน เป็นคล้ายรังผึ้ง และเป็นเศษกรวดค่อนข้างเหลี่ยม

                ลักษณะทางธรณีวิทยา แหล่งธรณีวิทยาบริเวณนี้เป็นแหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับ(type section) ของกลุ่มหินตะรุเตา ในยุคแคมเบรียน (Cambria) มีลักษณะเป็นหินทรายสีแดง พบซากดึกดำบรรพ์ สัตว์ทะเลพวกไทรโลไบต์ (trilobite) และแบรคิโอพอด (brachiopod) นอกจากนี้หินที่โผล่อยู่แสดงถึงระบวนการกร่อน (erosion) และผุพังอยู่กับที่ (weathering) ตามรอยแตกซึ่งมีหลายทิศทาง ทำให้มีลักษณะเป็นปุ่ม รูพรุน และบางจุดมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง (honey comb) ส่วนทางด้านทิศเหนือของอ่าวเมาะและ จะพบหินปูนสีเทาถึงเทาดำของยุคออร์โดวิเชียน ซึ่งเป็นรอยต่อของหินในยุคแคมเบรียนและออร์โดวิเชียน บ่งบอกถึงสิ่งแวดล้อมโบราณที่แตกต่างกันในแต่ละยุค


 

แหล่งซากไตรโลไบท์อ่าวเมาะและ

ที่มา http://fossil.dmr.go.th/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ 


๗.๓ ซากดึกดำบรรพ์โต๊ะสามยอด

 

 

 

 

            ซากดึกดำบรรพ์โต๊ะสามยอดที่อยู่ ศาลทวดโต๊ะสามยอด ตำบลป่าแก่บ่อหินอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูลเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ๆ ขนาดเล็ก ติดถนนสายบ้านสะพานวา-บ้านป่าแก่ อยู่ห่างจากสามแยกบ้านสะพานวาไปทางบ้านป่าแก่ประมาณ ๓ กิโลเมตร มีศาลทวดโต๊ะสามยอดตั้งอยู่เชิงเขา ขนาดพื้นที่แหล่งประมาณ ๓๐ ๔๐ ตารางเมตร ห่างจากอำเภอทุ่งหว้าไปทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร 
                  หินปูนในแหล่งมีลักษณะมีการสลับชั้นระหว่างชั้นที่เป็นหินปูนกับชั้นที่เป็นหินปูนเนื้อโคลน (argillaceous limestone) และมีลักษณะที่แสดงว่าถูกบีบอัดจนชั้นหินปูนขาดออกจากกันเป็นก้อนทรงมน (nodular limestone) ด้านตัดขวางกับชั้นหินสังเกตเห็นซากเปลือกหอยกาบคู่ (bivalve) ที่ฝาหอยทั้งหมดคว่ำลงและพบนอติลอยด์ตัวใหญ่ในชั้นหินด้วย การคว่ำลงของเปลือกหอยกาบคู่ทำให้เข้าใจได้ว่าหินปูนนี้เกิดการสะสมตัวบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีอิทธิพลของคลื่นซัดเข้าหาฝั่งทำให้เปลือกหอยส่วนใหญ่พลิกคว่ำลงบนพื้น ลักษณะหินปูนดังกล่าว เป็นลักษณะของหินปูนในหมวดหินตะโล๊ะอุดังหรือหมวดหินแลตอง
            

                   


ซากดึกดำบรรพ์นอร์ติลอยด์เขาโต๊ะสามยอด

๘. แหล่งพิพิธภัณฑ์

     ๘.๑ พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า เป็นที่รวบรวมซากดึกดำ บรรพ์ที่ขุดพบในพื้นที่ เช่น ชิ้นส่วนของกรามช้างสเตโกดอน, กรามของแรด, ขวานหินโบราณ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรณีวิทยาและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของอีกแห่ง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ได้ก่อสร้างตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำ บรรพ์ทุ่งหว้าไว้ในบริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า เปิดให้ชมฟรีในวันเวลาราชการ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มขึ้นหลังจากได้พบฟอสซิลช้างสเตโกดอน ชิ้นแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จากนั้นในปีต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ได้เสด็จฯเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำ บลทุ่งหว้า ทางองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้าได้จัดบูธนิทรรศการและถวายรายงานการค้นพบฟอสซิลกระดูกฟันช้างสเตโกดอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ตรัสแก่เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลให้อนุรักษ์รักษาสิ่งเหล่านี้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ จึงเป็นที่มาของการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นส่วนการเที่ยวภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มจากการจัดแสดงประวัติพระราชกรณียกิจการเสด็จทรงงานจังหวัดสตูลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับช้างต้นคู่พระบารมีของพระองค์ ช้างในวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมจังหวัดสตูล ประวัติความเป็นมาของอำเภอทุ่งหว้า และของการจัดแสดงเกี่ยวกับยุคดึกดำบรรพ์โดยเริ่มจากขวานหินของมนุษย์โบราณช้างดึกดำบรรพ์ในประเทศไทยและช้างดึกดำบรรพ์ที่พบในสตูล และในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังทำให้เราได้รู้อีกว่าจังหวัดสตูล นั้นเป็นแหล่งแรกๆที่พบซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิต ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ของแต่ละยุคไม่ว่าจะเป็นยุคแคมเบรียน ยุคออร์โดวินเชียน ยุคไซลูเรียน ยุคดีโวเนียน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส และยุคเพอร์เมียน ซึ่งก็พบทั้งไทรโลไบต์สาหร่ายสโตรมาโตไลท์ หอยทะเลดึกดำบรรพ์ นอร์ติลอยด์ แอมโมนอยด์ ซึ่งมีการจัดแสดงตัวอย่างในแต่ละยุคส่วนฟอสซิลชิ้นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ฟอสซิลกรามช้างสเตโกดอน และฟอสซิลกระดูกฟันของแรด 



อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า

๘.๒ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู

      พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู แสดงมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ    ตำบลละงู โดยนายชัยวัฒน์ ไซยกุล หมู่ที่ ๑ บ้านท่าชะมวง สนใจสะสมเก็บรวบรวม โบราณวัตถุ สิ่งของเหลือใช้ เครื่องประดับที่เป็นของเก่าแก่ เช่น แหวน แจกัน นาฬิกา โอ่ง มีรถโบราณ หลายยี่ห้อ หลายคัน เครื่องปั้น ดินเผา เครื่องเงิน เตารีด ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ เครื่องแก้ว เครื่องเสียง เครื่องดนตรี เครื่องจักสาน พัดลม นาฬิกามากมาย รวมแล้วประมาณกว่า ๕๐๐ชิ้น และมีโถสำริดได้รับการยืนยันว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุด ประมาณ ๑,๕๐๐ ปีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงูมีสองแห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ตรงข้ามวัดอาทรรังสฤษฎิ์ ถนนละงู-ฉลุง ตัวอาคารมี สองชั้น ชั้นล่างจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือท้องถิ่นและขนม ชั้นบนจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ มีของจำพวกเครื่องทองเหลือง เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงิน เตารีด ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ กระเบื้องเคลือบ เครื่องแก้วเครื่องเสียง เครื่องดนตรี เครื่องจักสาน นาฬิกา พัดลม แห่งที่สองตั้งอยู่เลขที่ ๒๘ หมู่ที่ ๑ บ้านหัวหิน ตำบลละงู เปิดให้บริการทุกวัน เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐นาฬิกาอัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท นักเรียนในเครื่องแบบ ๕ บาท


 

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู

         ๘.๓ พิพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาโรงเรียนกำแพง พิพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาโรงเรียนกำแพง “ครูนก” หรือนายธรรมรัตน์ นุตะธีระ ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำ แพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผู้จุดประกายการศึกษาฟอสซิล หรือซากดึกดำ บรรพ์ที่มีอยู่เต็มพื้นที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผ่านเด็กนักเรียน ผสานกับความต้องการของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะผลักดันให้จังหวัดสตูลเป็นอุทยานธรณีระดับโลกภายในพิพิธภัณฑ์มีการบูรณาการการเรียนรู้ พัฒนานักเรียนเป็นวิทยากรประจำฐานตัวอย่างสัตว์แต่ละฐาน นักเรียนจะช่วยอธิบายและกระตุ้นให้เกิดความสนใจ เข้าใจตัวอย่างจัดแสดงในห้องพิพิธภัณฑ์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละฐาน 



ภาพ แสดงนิทรรศการซากดึกดำ บรรพ์มหายุคพาลีโอโซอิค




บรรณานุกรม

 ทรงภพ  วารินสะอาด. (ม.ป.ป.). อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark). จังหวัดสตูล : ม.ป.ท.

(อัดสําเนา)

ที่ทำการปกครองจังหวัดสตูล.(2562). เอกสารประกอบการอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ

ให้ความรู้เกี่ยวกับอุทยานธรณีโลกสตูลแก่ข้าราชการฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดสตูล.

จังหวัดสตูล : ที่ทำการปกครองจังหวัดสตูล.

คณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณี. อุทยานธรณี. สืบค้น

เมื่อ 1 พฤษภาคม 2563จาก https://www.geopark-thailand.org/unesco-global-

geoparks 

 



 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ