ประเพณีและวัฒนธรรม
 
 
กลุ่มชาติพันธ์ในจังหวัดสตูล

        กลุ่มชาติพันธุ์มานิ

                  มานิ เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยของเผ่านิกริโต (nigrito) อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 20-30 คน กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าเขาในภาคใต้ของประเทศไทยแถบจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล และยะลา คนไทยเรียกว่า เงาะป่า  ยังมีการเรียกชื่อชนกลุ่มนี้อีกหลายชื่อแตกต่างกันไปตามกลุ่มย่อยหรือแต่ละท้องถิ่น ชื่อ เช่น ซาไก เซมัง คะนัง โอรังอัสลี ฯลฯ  มานิมีลักษณะทางมานุษยวิทยากายภาพ  นิสัยใจคอ สติปัญญา และวิถีชีวิต คล้ายคลึงกับชนเผ่านีกรอยด์ (negroid) แถบอัฟริกา  คือมีผมหยิกติดหนังศีรษะ ผิวดำคล้ำ จมูกแบนกว้าง ริมฝีปากหนา ฟันซี่โต ใบหูเล็ก ตะโพกแฟบ นิ้วมือนิ้วเท้าใหญ่ รูปร่างสันทัด สูงประมาณ 140-150 เซนติเมตร ผู้หญิงมีขนาดร่างกายเล็กว่ากว่าผู้ชาย  แต่แข็งแรง ส่ำสัน ชอบเปลือยอก ชาวมานิมีอุปนิสัยร่าเริง ชอบดนตรีและเสียงเพลง  กลัวคนแปลกหน้า  แต่เมื่อคุ้นเคยจะยิ้มง่ายและพูดคุยอย่างเปิดเผย มานิเกลียดการดูถูกเหยียบหยาม  ชอบพูดและ ทำตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมเมื่อคุ้นเคย มานิแต่ละกลุ่มย่อยมีการไปมาหาสู่ เยี่ยมเยือนและมีการนับเครือญาติที่อยู่ตามถิ่นต่างๆ ด้วย  ปัจจุบันยังมีชาวมานิหลายกลุ่มอยู่อาศัยในเขตป่าเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรีในภาคใต้ของประเทศไทย  ในจังหวัดสตูลพบกลุ่มชนชาวมานิในเขตอำเภอทุ่งหว้า ละงู และมะนัง 
                   มานิมีภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันและภูมิปัญญาบางส่วนมีการผสมผสานระหว่างความรู้ดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่ และภูมิปัญญาที่ได้จากบทเรียนชีวิตจริงตามธรรมชาติมีองค์ความรู้ปรากฏอยู่ในเครื่องใช้ ยาสมุนไพร ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ช่วยให้สังคมชาวมานิมีภูมิต้านทานอย่างเข้มแข็งและพัฒนามาอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักแม้ว่าสังคมโลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม การสร้างศูนย์การเรียนรู้ในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์เงาะป่ามานิเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของมนุษย์ควบคู่กับยอบรับในสิทธิการดำรงอยู่ตามแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม                     



 

การตั้งถิ่นฐาน มานิเลือกทำเลที่อยู่อาศัยในภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา มีลำธารหรือน้ำตกอยู่ไม่ไกลจาก เพิงพักมีสัตว์ป่าและพืชอาหาร เช่น เผือก มัน ฯลฯ อุดมสมบูรณ์ มานิใช้ไม้ซางสำหรับยิงลูกดอกเป็นอาวุธสำคัญสาหรับล่าสัตว์ เพิงพักหรือบ้านของมานิเรียกว่าทับมีลักษณะเป็นเพิงหมาแหงน

                  การพักผ่อนนอนหลับ  มานิถือว่าเท้าเป็นอวัยวะสำคัญของพวกเขา ที่ต้องใช้เดินและหาอาหารมาเลี้ยงปากท้อง พวกเขาจึงนอนเอาศีรษะออกข้างนอก เอาเท้าไว้ข้างใน เขาบอกว่าเท้ามีความสำคัญกว่าศีรษะ ไปไหนมาไหนได้ก็เพราะเท้า หาอาหารได้ด้วยเท้าหรือเกิดเหตุการณ์ฉุกละหุกกะทันหันภัยมาถึงตัวก็วิ่งหนีได้ด้วยเท้า และการหันศีรษะออกข้างนอกหากเกิดเหตุก็จะรู้สึกตัวเร็ว ถ้าหากมีเสือมาถ้าหันเท้าออกข้างนอกเสือกัดเท้าทำให้ไม่ตายแต่จะเกิดอาการเจ็บปวด ลำบากมาก ไปไหนไม่ได้ แต่เมื่อหันศีรษะออกเสือกัดศีรษะตายเสียเลยดีกว่า
           ภาษาและการสื่อสาร วัฒนธรรมทางภาษา มานิเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมเผ่าหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีตระกูลภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษาแต็นแอ๊น ใช้ในแถบจังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล 

                  อาหารการกิน มานิกินอาหารที่หาได้ในธรรมชาติ ไม่นิยมการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้หมู่บ้านใกล้ๆ จะมีการเพาะปลูกให้เห็นก็ตาม อาหารหลักคือหัวเผือก หัวมัน ผลไม้ป่าตามฤดูกาล หน้าที่หาอาหารเป็นหน้าที่ของทุกคนช่วยกัน ผู้หญิงและเด็กจะหาเผือก มัน ผัก ผลไม้บริเวณใกล้ ๆ ทับ ส่วนผู้ชายจะออกหาอาหารจำพวกสัตว์ป่า หน้าที่ปรุงอาหารเป็นของผู้หญิง เนื้อสัตว์ป่าได้แก่ เนื้อกวาง เก้ง หมูป่า ปลาตะพาบน้ำ เต่า ยกเว้นเนื้องู เนื้อช้างและเสือ                     

 

                    ยารักษาโรค มานิมีวิธีรักษาโรคตามแบบของเขา บางครั้งก็ดูเหมือนจะปล่อยไปตามยถากรรม เซมังเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคทางเดินอาหารและโรคผิวหนังกันมาก แต่ที่น่าแปลกใจคือไม่ค่อยเป็นโรคมาลาเรียทั้ง ๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีเชื้อไข้มาลาเรียชุกชุม ไม่นิยมใช้ยาแผนปัจจุบันที่พวกเขาเรียกว่ายาหลวงแต่นิยมใช้ยาสมุนไพร จนได้รับการยกย่องว่าซาไกเจ้าแห่งสมุนไพรยารักษาโรค โดยปกติมานิกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีหมอประจำกลุ่มอยู่ 1-2 คน คือหมอผู้หญิง มีหน้าที่ทำคลอด หมอผู้ชายทำหน้าที่เป็นแพทย์รักษาโรคทั่วไป

                   สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นอาวุธ กระบอกตุด เป็นอาวุธประจำกายของมานิชนิดหนึ่งที่ผู้ชายทุกคนต้องมีติดตัวตลอดเวลา ใช้เป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์และเป็นอาวุธป้องกันตัว กระบอกตุดเป็นชื่อเรียกภาษาไทยภาคใต้ คำว่าตุดหรือบอเลาทำจากไม้ใผ่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าไม้ซาง 


        



 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ