หน้าหลัก |► ประเพณีและวัฒนธรรม | 4 ประเพณีและวัฒนธรรม |► 4.2 กลุ่มชาติพันธ์ |► 4.2.2 กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล "อูรักลาโว้ย" |
ประเพณีและวัฒนธรรม
 
 
 
กลุ่มชาติพันธ์ในจังหวัดสตูล

       กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล "อูรักลาโว้ย" (อูรัก=ฅน, ลาโว้ย=ทะเล) 

                     ปัจจุบันพวกเขาตั้งบริเวณเกาะสิเหร่ หาดราไวย์ แหลมหลาเหนือ และบ้านสะปำ ในจังหวัดภูเก็ต เกาะพีพี เกาะจำ เกาะปู เกาะไหว และเกาะลันตาใหญ่ ในจังหวัดกระบี่ ไปจนถึงเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบุโหลน และเกาะราวี จังหวัดสตูล

                    วิถีชีวิต ชาวอุรักลาโว้ยใช้ชีวิตครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยฝ่ายชายจะเข้าอยู่กับครัวเรือนฝ่ายหญิงชั่วคราว ก่อนแยกเป็นครอบครัวเดี่ยวเมื่อถึงเวลาสมควร ชาวอุรักลาโว้ยนั้นนับถือผีบรรพบุรุษ และสิ่งเหนือธรรมชาติว่ามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต "โต๊ะหมอ"จะเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่างๆ เช่นพิธีลอยเรือ พิธีแก้บน เป็นต้น ทุกครึ่งปีในเดือนหกและเดือนสิบเอ็ด ไม่ว่าชาวอูรักลาโว้ยจะกระจัดกระจายอยู่ที่ใด พวกเขาก็จะกลับมายังถิ่นฐานเดิมเพื่อเข้าร่วมในพิธีลอยเรือ หรือ "เปอลาจั๊ก" ในวันนั้นที่ชายหาดจะมีการบรรเลงรำมะนา เสียงเพลง การร้องรำ การเล่นรองเง็ง ตลอดจนการดื่มฉลองพิธีการในวาระอันสำคัญของชาวอุรักลาโว้ย

ภาษาอูรักลาโว้ย  (Urak Lawoi'') หรือภาษาเลาตา ภาษาชาวเล ภาษาชาวน้ำ ภาษาลาโว้ย มีผู้พูดในประเทศไทยราว 3,000 คน(พ.ศ. 2543) โดยเฉพาะในเกาะภูเก็ตและเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ นอกจากนี้ยังมีจังหวัดซึ่งอยู่ภายในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ของประเทศไทย อย่างเกาะอาดัง จังหวัดสตูล ไม่พบในประเทศมาเลเซีย จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ภาษากลุ่มมาลาโย-โพลีเนเซีย สาขามาเลย์อิก สาขาย่อยมาลายัน โดยชาวอูรักลาโว้ยเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย นับถือความเชื่อดั้งเดิม ศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์


อาหารหลัก นอกจากอาหารทะเลแล้ว ข้าวได้กลายเป็นอาหารหลักของชาวเลมาช้านาน ปัจจุบันชาวเลมักจะหุงข้าวด้วยเตาไฟฟ้าเพราะความสะดวกและรวดเร็ว กับข้าวส่วนใหญ่จะมีปลาเป็นหลัก และทำเหมือนกับอาหารปักษ์ใต้ทั่วๆ ไปแต่อาจแตกต่างกันเล็กน้อยที่รสชาติและความเข้มข้นของเครื่องแกง อาหารที่ชาวเลนิยมทำกันก็คือ ปลาทอด แกงส้มปลา ปลาเปรี้ยวหวาน และจะมีอาหารประเภทเนื้อหมู ไก่หรือเนื้อวัวบ้างเป็นบางมื้อ โดยนำมาผัดกับผักชนิดต่างๆ หรือทำผัดเผ็ด แกงเผ็ด 

การรักษาพยาบาล ก่อนที่การรักษาแผนปัจจุบันจะเข้ามาถึงหมู่บ้านสังกาอู้นั้น ในอดีตชาวเลมีความเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยไม่สบายนั้นเกิดจาก ผีกินจึงเป็นหน้าที่ของโต๊ะหมอประจำหมู่บ้านที่ต้องรักษาด้วยการขับไล่ หรือเชิญผีให้ออกไป วิธีบำบัดส่วนมากใช้วิธีร่ายเวทมนต์ เป่าคาถาอาคม หรือดูเทียนเพื่อดูอาการของโรคต่างๆ บางครั้งก็เชื่อว่าการเจ็บป่วยนั้น อาจเป็นเพราะไปทำให้ผีบรรพบุรุษไม่พอใจ จึงต้องให้โต๊ะหมอรักษาอาการของโรค เพราะโต๊ะหมอจะสามารถติดต่อกับบรรพบุรุษได้ และรู้สาเหตุของความไม่พอใจนั้น รวมถึงการรู้วิธีที่จะดำเนินการให้หายจากโรคนั้นๆ ได้ หากไม่สบายธรรมดาโต๊ะหมอก็มีตัวยาที่จะรักษาโดยเฉพาะ หรือไม่ก็นำน้ำมนต์มาปัดเป่าโรค 

ถึงแม้ปัจจุบันชาวเลจะรู้จักและยอมรับการไปรักษาอาการเจ็บไข้ไม่สบายที่โรงพยาบาลแล้ว แต่ชาวเลก็ยังมีความเชื่อในเรื่องการรักษาโรคหรืออาการต่างๆ กับโต๊ะหมออยู่ด้วยเช่นกัน และยังคงรักษาควบคู่กันไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน ส่วนใหญ่ชาวเลจะรักษาตามอาการของโรคที่ปรากฏให้เห็นก่อน โดยบางครั้งก็ซื้อยาจากร้านค้ามากินเอง หากไม่หายก็จะไปโรงพยาบาล หรือไปหาโต๊ะหมอ

                  พิธีบูชาแม่ย่านางเรือ เป็นพิธีกรรมหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินในชีวิตของชาวเลหมู่บ้านสังกาอู้ ครอบครัวใดที่มีเรือออกทะเลต้องถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการทำพิธีนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อการทำมาหากิน คือการออกทะเลหาปลานั่นเอง ชาวเลเชื่อว่าการทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือ เป็นการบอกกล่าวให้แม่ย่านางประจำเรือแต่ละลำรับรู้เพื่อจะได้คุ้มครองไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเวลาออกทะเล และจับปลาหรือสัตว์ทะเลต่างๆ ได้มาก

                     พิธีลอยเรือ เป็นพิธีที่ถือว่าสำคัญสำหรับชาวเลบ้านสังกาอู้มากที่สุด และเป็นพิธีที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ชุมชนจะจัดพิธีนี้ทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 2 วัน คือ ในวันขึ้น 14 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ ของเดือน 6 และเดือน 11 (ประมาณเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม) เรือที่นำไปลอยเรียกว่า “เรือปาจั๊ก” วัตถุประสงค์ในการลอยเรือ คือ 

           1. เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้ผีร้ายความเจ็บไข้ทั้งหลายทั้งปวงหายไปจากชุมชน 
           2. เพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษไปสู่แดนสถิตคือ “ฆูนุงฌึรัย” ตามความเชื่อ 
           3. เพื่อส่งวิญญาณสัตว์ที่เคยฆ่าเป็นอาหารคืนให้เจ้าของเดิม
                  ประเพณีนี้ทำให้กลุ่มชนชาวเลมีการกระทำทางสังคมร่วมกันและมีโอกาสได้มาพบปะสังสรรกัน บ่อยๆ ทำให้เกิดแรงยึดเหนี่ยวทางสังคม การได้ทำพิธีรำลึกถึงบรรพบุรุษร่วมกันของชาวเลทำให้เกิดความสามัคคี และดำรงวิถีชีวิตที่คงเอกลักษณ์ไว้ 
 

 



 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ