หน้าหลัก |► ประเพณีและวัฒนธรรม | 4 ประเพณีและวัฒนธรรม |► 4.4 แหล่งโบราณคดีในอุทยานธรณีสตูล |

ประเพณีและวัฒนธรรม
 
 
แหล่งโบราณคดีในอุทยานธรณีสตูล

            แหล่งโบราณคดี  อาคารชิโน-โปรตุกีส  บ้านท่าเรือ หมู่ 2 ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

                  พื้นที่แหล่งเป็นอาคาร ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของถนนหลวงหมายเลข 416 ขนาดอาคารกว้าง 5 เมตร ลึกประมาณ 15 เมตร ห่างจากสี่แยกกลางอำเภอทุ่งหว้าลงไปทางใต้ประมาณ 100 เมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอทุ่งหว้า ไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 100 เมตรพื้นที่แหล่งเป็นอาคารทิ้งร้างสร้างขึ้นเมื่อสมัยอำเภอทุ่งหว้า มีชื่อเรียกว่า สุไหงอุเป” ที่มีท่าเรือมีการเดินเรือทำมาค้าขายกับปีนัง อาคารต่างๆในสมัยนั้นจึงได้รับอิทธิพลผสมผสานระหว่างจีนกับโปตุเกส ปัจจุบันพบเหลือเพียงไม่กี่หลัง ทั้งที่มีผู้อยู่อาศัยและที่ปล่อยทิ้งร้าง ถือเป็นโบราณสถานบอกเล่าเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองในอดีตในปี พ.ศ. 2437 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล และในปี พ.ศ. 2440 ได้ประกาศจัดตั้งมณฑลไทรบุรี อันประกอบไปด้วย ไทรบุรี ปะลิส และสตูล และเมื่อ วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2443 พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระยาภูมินารถภักดี ไปปกครองเมืองสตูลเป็นระยะเวลา 18 ปี ด้วยพระยาภูมินารถภักดีเคยอาศัยอยู่ที่เกาะปีนังมาก่อน ได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของปีนังที่อังกฤษปกครองอยู่ จึงมีความคิดที่จะสร้างเมืองสุไหงอุเป ให้เป็นแหล่งปลูกพริกไทยและสร้างท่าเทียบเรือ ส่งผลผลิตไปขายที่ปีนัง และได้เชิญชวนชาวจีนจากปีนังให้มาตั้งถิ่นฐานที่สุไหงอุเป มีเรือกลไฟ 6 ลำแล่นระหว่างปีนังกับทุ่งหว้า พ่อค้าชาวจีนได้สร้างอาคารตึกแถวแบบ ชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese style) ขึ้น ซึ่งก็ยังคงทิ้งร่องรอยปรากฏให้เห็นอยู่ในตลาดทุ่งหว้าจนถึงทุกวันนี้

             อาคารแบบชิโน-โปรตุกีส เป็นของนายสุธรรม-นางกอบกิจ อึ้งสกุล ตกอยู่ในสภาพที่ทิ้งร้างปราศจากผู้คนอยู่อาศัย มีสภาพที่ทรุดโทรมและมีปลวกกินเนื้อไม้หลายส่วนทั้งส่วนที่เป็นอิฐก่อปูนฉาบและโครงสร้างไม้แตกหักหลุดลุ่ย และส่วนของกระเบื้องหลังคาได้มีการเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่มาก่อนหน้านี้แล้ว อาคารเป็นของ นายสุธรรม อึ้งสกุล และ นางกอบกิจ อึ้งสกุล 

โบราณสถานบ่อเจ็ดลูก

            บ้านบ่อเจ็ดลูก ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นแหล่งท่องเที่ยวรองจากเกาะต่างๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดสตูล เนื่องจากทัศนียภาพของพื้นที่บ่อเจ็ดลูกล้อมรอบไปด้วยน้ำทะเลสีเขียว มีชายหาด ถ้ำต่างๆ หน้าผา แหล่งปะการัง แหล่งหอยตะเภาซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อ โบราณสถานบ่อ 7 ลูก ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ถือเป็นต้นกำเนิดของชุมชนแห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวกทั้งทางเรือทางรถ ในช่วงฤดูการท่องเที่ยว เดือนพฤศจิกายน  เมษายนบ้านบ่อเจ็ดลูก ห่างจากท่าเทียบเรือปากบาราราว 7 กม. บนเกาะมีชายหาดขาวสลับกับโขดหินรูปร่างแปลกตา บรรยากาศเงียบสงบ อีกทั้งเกาะยังมีชุมชนชาวเกาะส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชาวประมง  

            บ้านบ่อเจ็ดลูก เดิมเรียกว่า ลางาตูโยะ เดิมราษฎรเข้าไปอาศัยบริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์ เพื่อเลี้ยงวัวควาย หลังจากนั้นมีชาวเล จากเกาะบุโหลนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ปัญหาไม่มีน้ำจืดใช้จึงช่วยกันขุดบ่อหาแหล่งน้ำจืดมาใช้จึงเป็นเรื่องประหลาดเมื่อพบว่า บ่อที่มีน้ำจืดสนิทที่สุด เป็นบ่อที่อยู่ใกล้ทะเลมากที่สุด ส่วนอีกหกบ่ออยู่ห่างออกไปกลับเป็นน้ำกร่อยและมีน้ำน้อยที่สุด จึงมีการสันนิษฐานว่าผู้ขุดบ่อน้ำไว้จนบัดนี้อายุของบ่อไม่น้อยกว่า 80-90 ปี ทุกวันนี้ชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกได้บูรณะบ่อทั้งเจ็ดโดยการขุดบ่อ ใส่ท่อซีเมนต์กลมโดยใช้อิฐดินเผาตกแต่งบริเวณขอบบ่อให้สวยงาม พื้นที่ของบ้านบ่อเจ็ดลูก มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มมีภูเขาอยู่ด้านในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน สภาพดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ริมชายหาด ดินที่ราบเชิงเขามีคลองที่สำคัญ คือ คลองบ้านบ่อเจ็ดลูกทางทิศตะวันตกจะมีเขาใหญ่ ซึ่งเป็นเขาที่สวยงามมากตั้งอยู่บนเกาะบริเวณ ปากน้ำ บ้านปากบารา ซึ่งเป็นสถานที่ในเขตรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลปากน้ำด้วย

 
 



 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ