ประเพณีและวัฒนธรรม


สถาปัตยกรรม 

สถาปัตยกรรมไทยท้องถิ่นเป็นศิลปะการก่อสร้างที่สมาชิกในชุมชนนั้นยึดถือหรือปฏิบัติเป็นรูปแบบสืบสานต่อๆ กันมาอันประกอบด้วยคตินิยม การเลือกใช้วัสดุกรรมวิธี  การใช้รูปแบบ และองค์ประกอบสำคัญที่มุ่งต่อประโยชน์ใช้สอยของสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ลักษณะของสถาปัตยกรรมไทยท้องถิ่นจะสัมพันธ์และเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศดินฟ้า อากาศทรัพยากรธรรมชาติ ขีดความสามารถในการผลิต ตลอดจนเทคนิควิธีการ คติความเชื่อและวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสถาปัตยกรรมหลายรูปแบบได้แก่
1. บ้านเรือน 2. มัสยิด 3. วัด 
 
                   1.บ้านเรือน รูปแบบของบ้านที่เป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะของจังหวัดสตูล คือเป็นบ้านทำด้วยไม้ ยกพื้นสูงประมาณ 1-2.5 เมตร ปล่อยใต้ถุ่นโล่ง เสาเรือนมีฐานเสา (ตีนเสา) ที่ทำจากหิน คอนกรีตหรือไม้รองรับโดยไม่ฝังเสาเรืองลงในดิน หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์รูปข้าวหลามตัดหรือสังกะสี หรือจาก เป็นหลังคาทรงปั้นหยา ที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลังคาห้าหรือมุดลงลีมา” โดยยึดเส้นหลังคาเป็นหลักซึ่งมีทั้งหมด 5 ชั้น จึงเรียกหลังคาห้า เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากมาเลเซีย เรียกว่า บ้านทรงแป-ระ (เมืองหนึ่งในประเทศมาเลเซีย) บันได โดยทั่วไป จะมี 2ด้าน คือด้านหน้า และด้านหลัง ชั้นบันไดใช้เป็นจำนวนคี่ ประตูบ้านมีทั้ง 2 ด้านเช่นกันมีความสูงตั้งแต่พื้นจนถึงช่องลม พื้นเรือนใช้ไม้กระดาน แบ่งเป็นห้องโถงใหญ่ ห้องนอน และห้องครัวโดยใช้ไม้กระดานหรือไม้ไผ่ขัดแตะเป็นฝาผนังกั้น จะมีหน้าต่างรอบบ้านสูงตั้งแต่พื้นจนถึงช่องลม ตอนบนของหนาต่างจะตกแต่งเช่นเดียวกับตอนบนของประตูบ้าน ช่องลมจะมีโดยรอบ ระหว่างช่องลมฉลุเป็นลายต่างๆทั้งลายเครือเกาและลายรูปทรงเรขาคณิต หน้าต่างแต่ละบานใช้ไม้ทำเป็นลูกกรงเล็กๆ กั้นไว้

                  

2. มัสยิด มัสยิด เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจในวันศุกร์ ประกอบศาสนกิจประจำวัน และใช้เป็นสถานที่สอนวิชาศาสนาอิสลาม มุสลิมนิยมสร้างมัสยิดไว้กลางหมู่บ้าน ตัวอาคารมัสยิดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวอาคารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ได้ ขนาดของมัสยิดจะเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับความสามารถและศรัทธาของผู้สร้าง นอกอาคารจะมีที่สำหรับอาบน้ำละหมาด ที่ชำระล้างร่างกาย ประตูทางเข้ามีหลายด้าน เมื่อเข้าไปภายในจะเป็นห้องโถง ด้านทิศตะวันตกของห้องโถงส่วนใหญ่จะมีแท่นสูงสำหรับเป็นอิหม่านยืนอ่านคุตบะห์ (โอวาท) ภายในมัสยิดไม่มีรูปภาพ รูปหล่อ และรูปปั้นใดๆ นอกจากตัวอักษรภาษาอาหรับ หลังคามัสยิดมักทำเป็นรูปโดม ตามช่องประตูและหน้าต่าง จะทำเป็นรูปโค้ง ประดับด้วยกระจกสี นอกจากนี้มีหออาซานที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามแบบของสถาปัตยกรรมแต่ละแห่ง ปัจจุบันหอคอยหรือหออาซานได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของมัสยิด 


                  3.วัด สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวช้องกับศาสนาหรือวัด จะเด่นชัดในส่วนของเขตพุทธาวาส ได้แก่ อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ อิทธิพลของศิลปะอินเดียที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนานั่นเอง สถานปัตยกรรมทางพุทธศาสนาที่ปรากฎในจังหวัดสตูล ก็ได้รับอิทธิพลดังกล่าว เพียงแต่ได้รับศิลปะสมัยใหม่มากจนไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการรับศิลปะมาจากยุคเก่าก่อนได้อย่างแน่ชัดอุโบสถที่มีลักษณะแปลกไปจากพระอุโบสกโดยทั่วไป คือ อุโบสกวัดชนาธิปเฉลิม มีลักษณะเป็นทรง 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นอาคารไม้ ด้านหน้าพระอุโบสกเป็นระเบียง มีบันไดทั้ง 2 ด้าน พระอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2473 ชั้นบนสำหรับประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ส่วนชั้นล่างใช้เป็นศาลาการเปรียญ ปัจจุบันได้บูรณปฏิสังขรณ์แล้ว สภาพเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ คือ โครงสร้างของพระอุโบสถ และเสาบานหน้าต่างซึ่งแกะสลักรูปเครือเถา





บรรณานุกรม

 ทรงภพ  วารินสะอาด. (ม.ป.ป.). อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark). จังหวัดสตูล : ม.ป.ท. (อัดสําเนา)
                    ที่ทำการปกครองจังหวัดสตูล.(2562). เอกสารประกอบการอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เกี่ยวกับอุทยานธรณีโลก   
                                   สตูลแก่ข้าราชการฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดสตูล. 
จังหวัดสตูล : ที่ทำการปกครองจังหวัดสตูล.
                   คณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณี. อุทยานธรณี. สืบค้น
                                   เมื่อ 1 พฤษภาคม 2563, จาก https://www.geopark-thailand.org/unesco-global- geoparks 





 
 
 ® สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล
 @ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนา โดย นายคำรณ รูบามา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ