น้ำมันตับปลา กับน้ำมันปลาต่างกันอย่างไร
• น้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil) สกัดจากตับของปลาทะเล เช่นปลาคอด แฮลิบัท
เฮอร์ริ่งนิยมรับประทานเพื่อเสริมวิตามินเอ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเยื่อบุผิวให้เป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีวิตามินดี
ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมรวมทั้ง ฟอสฟอรัสบริเวณลำไส้เข้าสู่ร่างกาย ทำให้การสร้างกระดูกเป็นไปอย่างปกติ
น้ำมันตับปลานั้นส่วนใหญ่จะมีปริมาณวิตามิน เอ และดี ในปริมาณที่สูง และได้น้ำมันด้วย หากได้รับวิตามินเกินขนาด
โดยเฉพาะวิตามินเอและดี ก็อาจเกิดพิษจาก การสะสมวิตามินเกินความจำเป็น โดยมีอาการความดันในสมองสูง ปวดศีรษะ
หิวน้ำ และปัสสาวะบ่อย ฯลฯ เป็นผลข้างเคียง ที่เกิดจากการรับประทานเกินขนาด
• น้ำมันปลา (Fish Oil) เป็นน้ำมันที่สกัดจากเนื้อ หนัง หัว และหางปลาทะเล อาทิ
ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอร์ริ่ง ปลาแมคคอเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันปลามีกรดไขมันที่ร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างเองได้
โดยเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fatty Acid) หรือ PUFA 2 ชนิด ในกลุ่มโอเมก้า3 คือ
- Eicosapentaenoic acid (EPA)
- Docosahexaenoic acid (DHA)
สำหรับประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า3 ในทางการแพทย์คือ สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด (ใช้ในปริมาณสูงถึง 2 กรัมต่อวัน)
การใช้ลดการอักเสบในคนไข้โรครูมาตอยด์ที่มีอาการปวดข้อ การใช้เพื่อลดอาการคันและอักเสบในคนไข้โรคสะเก็ดเงิน
ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงประโยชน์ของ DHA กับการพัฒนาสมองและดวงตา
โดยมีการนำ DHA ไปเสริมในนมสำหรับทารก หรือหญิงมีครรภ์ การใช้ในโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ที่พบในผู้สูงอายุ
จะปลาเล็ก..ปลาน้อย..ปลาตัวโต หากเรารับประทานปลาเป็นประจำ ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจหรือไขมันอุดตันก็จะน้อยกว่าคนทั่วไป
ที่สำคัญ ยังมีผลวิจัยว่าสาร DHA มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองโดยเฉพาะในส่วนของความจำ และการเรียนรู้ เพราะสาร DHA
จะเข้าไปเสริมสร้างความเจริญเติบโต ของปลายประสาทที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณ ผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ทำให้
เกิดการเรียนรู้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อปลาแพง ๆ มารับประทาน เพราะแค่ปลาสด ๆ ที่วางขายในตลาดแถวบ้าน เช่น ปลาทู
ปลาตะเพียน ก็มีสารอาหารเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว
รับประทานน้ำมันปลาอย่างไรจึงจะปลอดภัย
1. บุคคลทั่วไป ควรรับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งอาหารที่มีกรด alpha – linolenic acid สูง เช่น
น้ำมันถั่วเหลือง เมล็ดธัญญพืช เต้าหู้ เป็นต้น
2. ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรรับประทานน้ำมันปลา ประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน
3. ผู้ป่วยที่ต้องการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ควรรับประทานวันละ 2 – 4 กรัม
* ก่อนตัดสินใจรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
และพึงระวังว่าการรับประทานน้ำมันปลาขนาดสูง อาจทำให้ระดับวิตามินอีในร่างกายลดลง
ควรทานดีหรือไม่???
อาหารเสริม คือ อาหารที่เสริมนอกเหนือ จากอาหารมื้อหลักของเรา ส่วนใหญ่ใช้ในคนที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน
แต่ถ้ารับประทานอาหารเพียงพอ และครบถ้วนแล้ว การทานอาหารเสริมก็ไม่จำเป็น (ไม่จำเป็นต้องเสียเงินแพงๆ)
ในการสร้างเซลสมอง ร่างกายจำเป็นที่จะต้องใช้ไขมัน 2 ชนิดคือ Omega-3 และ DHA ซึ่งเราพบมากในน้ำมันปลา
(และในอาหารอื่นๆอีกหลายชนิด) แล้วเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของ DHA เพื่อสร้างเซลสมองต่อไป
ซึ่งกระบวน การสร้างเซลสมองนี้ เกิดขึ้นในช่วงเด็กทารกจนถึงอายุประมาณ 5 ขวบ (สมอง เติบโตช่วงทารก - 5ขวบ
หัวใจ เติบโตทารก - 20ปี) ดังนั้นคนที่อายุมากกว่านี้ กินไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก (แต่อาจจะได้ประโยชน์ในเรื่องของช่วย
ลดไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ)
ส่วนใหญ่จะใช้บำรุงเด็กเล็กๆ หรืออยู่ตั้งแต่ในครรภ์ โดยในอาหารเด็กหลายยี่ห้อ จะมีการผสมน้ำมันปลาลงไปด้วย
แต่จากการศึกษาแล้วพบว่า น้ำมันปลามีส่วนช่วยเรื่องความจำได้ในช่วงระยะเวลา สั้นๆเท่านั้น ไม่ได้ช่วยก่อให้เกิดเด็กที่ฉลาดกว่าปกติ
แต่อย่างใด และในเด็กเล็กๆ บางคนที่ไม่แข็งแรง ก็อาจแพ้สารพิษจากน้ำมันปลาได้
สมองที่ดี อยู่บนร่างกายที่แข็งแรงครับ ฉะนั้นทำร่างกายเราให้แข็งแรง ทานอาหารเพียงพอและครบ 5 หมู่
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้มีสุขภาพที่ดี โดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อที่ไหน จากนั้นเรื่องความจำและสมอง
ให้หมั่นคิดบ่อยๆ ทำแบบฝึกหัด ยิ่งทำเยอะ ยิ่งเข้าใจ อ่านหนังสือ ไม่มีอะไรเกินความพยายามนะครับ
ส่วนเรื่องความจำ ทำยังไงถึงจะจำได้ สมมติว่าน้องต้องอ่านหนังสือ และต้องจำให้ได้เพื่อไปสอบ
ให้ใช้วิธี อ่าน พูด เขียน รอบแรกอ่านหนังสือไป เข้าใจบ้างไม่เข้าบ้างก็ไม่เป็นไร รอบที่สอง
ไปพูด จับกลุ่มทบทวนเพื่อนๆ หรือรอบที่สาม คือ เขียน อ่านไปบทนึง แล้วลองบันทึกใจความสำคัญต่างๆ
ทำเรื่อยๆ ไปทีละบท จากนั้นก็อ่านบททวนที่เราเขียนอีกครั้ง ถ้าอยากจำได้ ความจำดี ต้องหมั่นทบทวน
ยิ่งเราอ่านหลายรอบ ผ่านตาหลายรอบ ได้พูด ได้เขียน สมองจะยิ่งจำได้