[x] ปิดหน้าต่างนี้
 


 
 


เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : ความรู้เกี่ยวกับ IT
หัวข้อเรื่อง : อัมพฤกษ์ –อัมพาต คุณก็เป็นได้

จันทร์ ที่ 11 เดือน มกราคม พ.ศ.2564

คะแนน vote : 81  

 อัมพฤกษ์ –อัมพาต คุณก็เป็นได้

ก้าวย่างสู่พุทธศักราชใหม่ หลายคนตั้งความหวังรอคอยถึงสิ่งดีๆ ในชีวิต บางคนตื่นมาตักบาตรแต่เช้าเพื่อเสริมมงคลในวาระปีใหม่ บางคนเฝ้ารอของขวัญ แต่สำหรับชีวจิตแล้ว คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้เห็นคุณผู้อ่านเป็นเจ้าของสุขภาพแข็งแรงห่างไกลความเจ็บป่วย

วันนี้จึงขอมอบของขวัญให้แก่ผู้อ่านผ่านตัวหนังสือ ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวหลากหลายสาเหตุก่ออาการอัมพฤกษ์-อัมพาต เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันและป้องกันได้ถูกวิธี

ต้นตอที่หลอดเลือด

อัมพฤกษ์-อัมพาต คำที่มักใช้เรียกอาการที่ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นชื่อโรค แต่แท้ที่จริงแล้วอาการอัมพฤกษ์-อัมพาต มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการตามภาษาแพทย์ว่า “โรคหลอดเลือดสมอง” นั่นเอง

ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของอัมพฤกษ์-อัมพาต คือภาวะที่ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้นไม่ถือเป็นภาวะที่เกิดจากโรค แต่จะถูกจัดเป็นอาการอัมพฤกษ์-อัมพาตจากอุบัติเหตุ และมีอาการที่ต่างกัน

ทราบถึงคำจำกัดความของอัมพฤกษ์-อัมพาต กันแล้ว คราวนี้มาดูสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นต้นทางของการเกิดอาการอัมพฤกษ์-อัมพาต กันค่ะ

1.หลอดเลือดสมองตีบหรือตัน

เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดและมีไขมันหรือหินปูนมาจับ หรือเกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันทำให้สมองบางส่วนขาดเลือดหรือตาย

2.หลอดเลือดสมองแตก

เกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมอง ทำให้มีเลือดออกมาคั่งและทำลายเนื้อสมองบริเวณนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติที่สมองจากสาเหตุข้างต้นแล้ว สมองจะถูกทำลายและไม่สามารถสั่งงานไปที่อวัยวะรับคำสั่งโดยตรงอย่างกระดูกสันหลังที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายได้ จึงส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต

ส่วนจะเคลื่อนไหวร่างกายซีกใดไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับสมองซีกใดถูกทำลาย หากร่างกายซีกขวาขยับไม่ได้ แสดงว่าสมองซีกซ้ายโดนทำลาย(สมองซีกซ้ายควบคุมร่างกายซีกขวา-สมองซีกขวาควบคุมร่างกายซีกซ้าย)

ตรวจเช็ก 5 สัญญาณเตือน

ว่ากันว่าอัมพฤกษ์-อัมพาตนำมาซึ่งความเสียหายนานัปการ แต่กุญแจสำคัญก็คือ “เวลา” เพราะยิ่งถึงมือแพทย์เร็วเท่าไร ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้เท่านั้น ดังนั้นหากมีสัญญาณเตือนทั้ง 5 ข้อดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ

1.ใบหน้าและ/หรือร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก

2.ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือเห็นภาพซ้อน

3.พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง

4.เวียนศีรษะหรือหมดสติ

5.ปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน

อัมพาต

พฤติกรรมเสี่ยงโรค

หลายคนอาจมองว่าอัมพฤกษ์-อัมพาต เกิดขึ้นได้เฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่นั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวค่ะ เพราะหากหนุ่มสาวคนใดมีพฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้แล้ว โอกาสที่จะเป็นโรคนี้ก็มีมากไม่แพ้ผู้สูงอายุเช่นกัน

1.การดื่มสุรา

แอลกอฮอล์ในสุราถือเป็นตัวการหลักที่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น หากดื่มเป็นประจำก็จะทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง และพัฒนาเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ในที่สุด

2.การสูบบุหรี่

นอกจากความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดแดงเกร็ง ลดความยืดหยุ่นของเส้นเลือด และทำให้หลอดเลือดแคบลงจนนำไปสู่การตีบตันของเส้นเลือดค่ะ

3.รับประทานอาหารรสเค็ม

ผู้ที่ชอบรับประทานเค็มคงต้องระวังกันให้มากขึ้น เพราะโซเดียมที่มีในน้ำปลาและเกลือจะทำให้ร่างกายดูดน้ำจากเซลล์ต่างๆ มากขึ้นเพื่อเจือจางโซเดียม เมื่อมีน้ำในเลือดมาก แรงดันเลือดจึงสูงขึ้นซึ่งเป็นต้นตอของโรคความดันโลหิตสูง และภาวะหลอดเลือดแข็งจากการรับแรงดันเลือดที่สูงเป็นเวลานาน

มีสถิติจากคุณหมอพบว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นโรคหลอดเลือดจากความดันโลหิตสูง เพราะอาหารที่รับประทานส่วนใหญ่ต้องจิ้มน้ำจิ้มรสเค็ม หรือซุปส่วนใหญ่จะต้องใส่ซอส ทำให้มีโซเดียมในเลือดมาก

ความเครียด

4.นอนกรน

การนอนกรนทำให้สมองขาดออกซิเจน เมื่อไม่มีออกซิเจน สมองก็ทำงานไม่ได้และทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองข้นหนืดไหลเวียนไม่สะดวก จนอุดตันเส้นเลือด ในที่สุด แต่กรณีนี้จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปและใช้ระยะเวลานาน ทางที่ดีผู้ที่มีปัญหานอนกรนควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการนอนกรนไม่ให้ลุกลามดีกว่าค่ะ

5.ความเครียด

อีกหนึ่งตัวการที่มีแนวโน้มพบได้มากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะความเครียดจากการทำงาน หากทำงานติดต่อกันโดยไม่พักจะทำให้ความดันเลือดเพิ่มและหัวใจเต้นเร็วขึ้น มีรายงานจากคุณหมอว่าเคยพบคนไข้บางรายทำงานหนักถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน และอดนอนข้ามคืน เมื่อตื่นขึ้นมาพบว่าเป็นอัมพาตเลยก็มี

ทราบถึงพฤติกรรมก่อโรคกันแล้วใครที่รู้ว่ามีความเสี่ยงก็อย่าลืมปรับเปลี่ยนตามนะคะ เพราะคงไม่มีใครดูแลเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง ที่สำคัญเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดปปีและตลอดไปค่ะ

ที่มา: นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 246

 



เข้าชม : 648


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      ไข้เลือดออก (Dengue fever) 9 / ส.ค. / 2566
      “ไซยาไนด์” สารพิษอันตรายถึงชีวิต อาการเป็นอย่างไร พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น 27 / เม.ย. / 2566
      Heat Stroke (โรคลมแดด) โรคที่เกิดช่วงหน้าร้อน 27 / เม.ย. / 2566
      แนะ 4 วิธี ป้องกันโรคฝีดาษลิง 26 / ก.ค. / 2565
      7 วิธี ง่าย ๆ ในการเริ่มลดไขมัน 18 / ก.ค. / 2565