น้ำตาลจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหากกินในปริมาณที่เหมาะสม แต่ในทางตรงกันข้าม หากไม่รู้จักบันยะบันยัง ความหวานๆ ก็จะกลายเป็นความขมให้กับสุขภาวะได้การบริหารจัดการกินน้ำตาลให้เป็นนั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า น้ำตาลที่เรากินในแต่ละวันแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ น้ำตาลที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ (Natural Sugar) เช่น น้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) ที่พบในผักผลไม้ และน้ำตาลแลคโตส (Lactose) ในผลิตภัณฑ์นม น้ำตาลที่เติมเพิ่มลงไปในอาหารระหว่างการปรุงหรือการผลิต (Added Sugar) เช่น น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมชนิด ต่างๆ
หากเรากินน้ำตาลจากอาหารธรรมชาติย่อมจะดีกว่าน้ำตาลจากการปรุงแต่งแน่นอน แต่การกินน้ำตาลในปริมาณมากต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความผิดปกติของระบบเผาผลาญ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งบางชนิด และภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non Alcoholic Fatty Liver Disease) การลดน้ำตาลจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเหล่านี้ได้
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อวันของแต่ละช่วงอายุ
1.) เด็กและผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 4 ช้อนชา หรือ 16 กรัม
2.) วัยรุ่นหญิงและชาย และวัยผู้ใหญ่ ไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม
อีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ลดน้ำตาลคือการเปลี่ยนมาใช้น้ำตาลซอง ขนาดบรรจุไม่เกิน 4 กรัมต่อซองในการปรุงอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลที่กินในแต่ละครั้งได้