ปรับพฤติกรรมสุขภาพ ป้องกันภาวะ Long COVID
ผู้ป่วยกลุ่มอาการลองโควิด-19 หรือผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อแล้ว ควรหมั่นสังเกตอาการ และเฝ้าระวังภาวะลองโควิด ของตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยจากโควิด-19 แล้วเพื่อป้องกันภาวะ Long COVID อาการที่ยังพบหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยมีเคล็ดลับ 3 ข้อดังนี้
1. นอนหลับพักผ่อนให้เหมาะสม โดยตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาที หลีกเลี่ยงคาเฟอีน อาหารมื้อดึก งดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
2. พัฒนากล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ได้แก่ กล้ามเนื้อกะบังลม และกล้ามเนื้อยึดซี่โครง ด้วยการฝึกหายใจเข้าและออก โดยในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อรอบ ประมาณ 3 - 5 รอบ และระหว่างรอบให้พัก 30 - 60 วินาที จะช่วยเพิ่มความสามารถในการหายใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอาการเหนื่อย หายใจลำบาก ช่วยขับเสมหะ และป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ โดยสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก หรือคาร์ดิโอ ประมาณวันละ 30 - 60 นาที 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น การเดินเร็ว รอบบ้าน ย่ำเท้าอยู่กับที่ การเต้นแอโรบิก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหายใจ การไหลเวียนของเลือด การทำงานของหัวใจและปอด ทำให้ไม่เหนื่อยง่าย
3. ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ บริเวณกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนบนสะบัก และลำตัวด้านข้าง เพราะเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ช่วยขยายกระบังลมและซี่โครง ทำให้หายใจได้ดีขึ้น หากกล้ามเนื้อเหล่านี้มีการตึงตัว ยึดเกร็ง ทรวงอกจะไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ พื้นที่ในทรวงอกลดน้อยลง ทำให้สมรรถภาพ การทำงานของปอดลดลงได้
ดังนั้น ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยการเหยียดแขน โก่งหลัง ชูแขนเอียงลำตัว และผสานมือที่ศีรษะ กางศอก แอ่นอก ยืดเหยียดในแต่ละท่าจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 15 วินาที ให้ปฏิบัติท่าละ 2 รอบ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้ปอดแข็งแรง ทั้งนี้ การฝึกบริหารปอด ออกกำลังกายแบบแอโรบิก และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ควรทำเป็นประจำ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย สร้างสุขภาพที่ดี
เข้าชม : 433
|