การต่อสู้แข่งขันในสังเวียนธุรกิจดุเดือดเข้มข้นขึ้นทุกขณะในยุทธจักรเทคโนโลยีก็ไม่น้อยหน้า ไม่มีใครยอมใคร โดยต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์สารพัดออกมาสู้รบเพื่อช่วงชิงชัยชนะ ที่เห็นชัดที่สุดคือสงครามการฟ้องร้องสิทธิบัตรระหว่าง 2 บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ชื่อก้องโลก "แอปเปิล" และ "ซัมซุง"
ทั้งคู่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไรใน 10 ประเทศ เนื่องจาก "แอปเปิล" มองว่า สินค้าของ "ซัมซุง" ในบางฟังก์ชั่นเลียนแบบบริษัทตัวเอง ทำให้ยักษ์แดนกิมจิ "ซัมซุง" ต้องปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างออกไปในบางประเทศเพื่อให้วางจำหน่ายได้ หรือในบางประเทศถึงขั้นโดนสั่งห้ามทำตลาดผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหานั้น ๆ เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด คล้ายกับว่า "ซัมซุง" กำลังเริ่มกลับมาทำแต้มได้อีกครั้งในสงครามทางกฎหมายในครั้งนี้ เมื่อ 1 ในคำร้องของแอปเปิลที่สั่งห้ามขายผลิตภัณฑ์ซัมซุงแคลิฟอร์เนียโดนยกคำร้อง
"เดอะวอลล์สตรีต เจอร์นัล" รายงานว่า สงครามการอ้างสิทธิบัตรระหว่างสองแบรนด์ไอทียักษ์ใหญ่ "แอปเปิล" และ "ซัมซุง" ดูจะยังไม่จบลงง่าย ๆ แต่ขณะนี้เหมือนว่า แบรนด์ดังสัญชาติเกาหลีเริ่มกลับมาได้เปรียบ "แอปเปิล" บ้างแล้ว พร้อมกับเท้าความว่า การต่อสู้อ้างสิทธิบัตรระหว่างสองบริษัทนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจาก "แอปเปิล" กล่าวหาว่า สมาร์ทโฟนและแท็บเลตในตระกูล "กาแล็กซี่" ของซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรของตน
"แอปเปิล" ทำการยื่นคำร้องฟ้อง ซัมซุงอย่างเร่งรีบในตลาดทั้งหมด 10 ประเทศ และได้ชัยชนะยกแรกจากศาลในประเทศเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์
ผลคือ "ซัมซุง" จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนดีไซน์โทรศัพท์สมาร์ทโฟนของ ตัวเองนิดหน่อย
นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา "แอปเปิล" ยังได้รับชัยชนะในศาลของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งตัดสินให้ "ซัมซุง" ห้ามจำหน่ายแท็บเลต "กาแล็กซี่แท็บ" อีกตลาดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ "แอปเปิล" คือในเมืองซานโฮเซ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีความสำคัญมากสำหรับสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม การตัดสินเรื่องนี้จะยังไม่เริ่มขึ้นจนกว่าจะถึงปีหน้า แต่ "แอปเปิล" ยื่นขอให้ศาลออกคำสั่งขั้นต้น เพื่อห้ามไม่ให้ซัมซุงสามารถจำหน่ายสินค้าตระกูลกาแล็กซี่ในเขต ดังกล่าว สาเหตุน่าจะเป็นเพราะช่วงนี้เข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวสิ้นปีถือเป็นหน้าขายอย่างแท้จริง
แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นไปดังที่ "แอปเปิล" ต้องการ โดยศาลสั่งยกคำร้องการห้ามจำหน่ายสินค้าตระกูลกาแล็กซี่ของแอปเปิลไปเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2554
หมายความว่า "ซัมซุง" จะสามารถเข้ามาบุกตลาดในช่วงเวลาขายดีที่สุดของปีได้อย่างเต็มที่
แม้ศาลจะยกคำร้องการสั่งห้ามขายซัมซุงกาแล็กซี่ไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้การต่อสู้ด้านกฎหมายของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สองรายนี้สงบลง ทั้งการตัดสินคำร้องที่แอปเปิลแจ้งว่า ซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรของตนในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลฟอร์เนีย ก็ยังไม่ได้เริ่มพิจารณา แต่สิ่งที่แอปเปิลกลัวที่สุด น่าจะเป็นเรื่องที่ว่า ในระหว่าง 2-3 เดือนนี้ซัมซุงสามารถนำสินค้าของตัวเองเข้ามาทำตลาดในสหรัฐอเมริกาได้ต่างหาก
ความพยายามของ "แอปเปิล" ที่ต้องการปกป้องสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็น "ทรัพย์สินทางปัญญา" อย่างเต็มที่ สร้างความประหลาดใจให้หลาย ๆ ฝ่ายที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยี เนื่องจากแอปเปิลเป็นบริษัทที่พยายามวางจุดยืนว่า ตนเป็นบริษัทที่ดูดี มีสไตล์ และรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองเสมอมา แต่นั่นอาจต้องเปลี่ยนไป เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่แอปเปิลต้องเผชิญ
ในตลาดแท็บเลต "แอปเปิล" อาจพอใจกับผลประโยชน์ที่ตนได้รับจากการเป็นผู้เปิดตลาดเป็นรายแรก เพราะ "ไอแพด" ได้กลายเป็นเจ้าตลาดแท็บเลตทั่วโลกไปแล้วเรียบร้อย โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ไอแพดน่าจะมีส่วนแบ่งด้านยอดขายมากกว่า 3 ใน 4 จากยอดขายแท็บเลตทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ตลาด "แท็บเลต" ยังอยู่ในช่วงกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทด้านการเงิน "แคเน็คคอร์ดจีนิวตี้" คาดการณ์ว่า ยอดขายแท็บเลตในปี 2555 จะเติบโตขึ้นอีก 66% ส่งผลให้บรรดาคู่แข่งของแอปเปิล รวมถึง "ซัมซุง" ย่อมไม่พลาดที่จะขนทัพสินค้าออกสู่ตลาด เพื่อเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งยอดขาย
ขณะที่ในฝั่งฟากสมรภูมิ "สมาร์ทโฟน" มีความแตกต่างจากตลาดแท็บเลตอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันสมาร์ทโฟนพะยี่ห้อ "ซัมซุง" ได้กลายเป็นตัวเลือกของผู้บริโภคส่วนใหญ่ในตลาดโลกไปแล้ว ว่ากันว่า ซัมซุงสัญชาติเกาหลีกลายเป็นผู้นำในตลาดแซงทุกแบรนด์ ไม่เว้นแม้แต่ "แอปเปิล" ด้วยซ้ำ โดยข้อมูลบริษัทวิจัย "การ์ทเนอร์" ระบุว่า ซัมซุงมีส่วนแบ่ง 17.8% แอปเปิล 3.9% โนเกีย 23.9% แอลจี 4.8% ริม 2.9% เอชทีซี 2.7% และโซนี่อีริคสัน 1.9% (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2554) ขณะที่ยอดสมาร์ทโฟนทั่วโลกอยู่ที่ 115 ล้านเครื่อง