[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
วันที่ ๒๖ มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติดโลก ขอให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่องสร้างการรับรู้เนื่องในวันยาเสพติดโลก
 

  

บทความทั่วไป
\\\'มิดะ\\\'ภาพลบที่\\\'อาข่า\\\'

อังคาร ที่ 29 เดือน มีนาคม พ.ศ.2554

คะแนน vote : 446  



ศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา คงกลายเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งไปแล้วของชนเผ่าอาข่า ชาวไทยภูเขากลุ่มหนึ่งของไทย

                     เพราะในวันนั้นชาวอาข่าได้มีโอกาสเปิดเวทีพูดเสียงดัง ๆ ผ่านสื่อมวลชนหลายแขนงให้สังคมโลกได้รับรู้ข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกันใหม่ว่า “มิดะ” หรือผู้หญิงผู้เป็นครูสอนเพศศึกษาให้แก่ชายหนุ่มอาข่าที่กำลังเข้าสู่วัยออกเรือน รวมทั้ง “ลานสาวกอด” ที่เข้าใจว่าเป็นสถานที่พลอดรัก ชายหนุ่มสามารถกอดสาวได้ตามใจชอบนั้น ล้วนไม่เคยมีอยู่จริงในวัฒนธรรมของอาข่า แต่เป็นสิ่งที่ชาวอาข่าถูกยัดเยียดว่า “มี” จากคนนอกวัฒนธรรมต่างหาก

เสียงกระบอกไม้ไผ่ลำใหญ่นับร้อยในมือชาวอาข่าที่กระทบพื้นเป็นจังหวะ พร้อมเสียงเพลง “อาเดอเลอชอ” ที่จะใช้ร้องเฉพาะในวาระสำคัญได้ถูกขับขานดังกระหึ่ม ในช่วงการต้อนรับคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ที่ให้การสนับสนุนการเปิดเวทีเสวนา “คลายปมมิดะและลานสาวกอด : มายาคติอาข่าในสังคมไทย” ณ หมู่บ้านชาวอาข่า บ้านแสนเจริญ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย รวมทั้งสื่อมวลชนจากทุกแขนง ที่พร้อมใจมาร่วมเผยแพร่ข้อมูลในวันดังกล่าว เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่ากิจกรรมในวันนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เสมือนประหนึ่งเป็นวันประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการจากภาพลักษณ์เลวร้ายที่เป็นพันธนาการมัดตรึงชาวอาข่ามานานหลายทศวรรรษ

ย้อนกลับไปที่ต้นตอของ “มิดะ”เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2492 จากหนังสือ “30ชาติในเชียงราย” ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และหนัง สือ “ชาวเขาในประเทศไทย” เมื่อปี 2496 โดยผู้เขียนคนเดียวกัน หลังจากนั้นก็มีหนังสืออีกมากมายที่เขียนถึงมิดะและลานสาวกอดในลักษณะดังกล่าว จนกระทั่ง จรัล มโนเพชร ศิลปินล้านนาชื่อดังได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปแต่งเป็นเพลงมิดะออกมาจึงทำให้คนในสังคมรู้จักคำว่ามิดะและลานสาวกอดกันอย่างแพร่หลาย บวกกับการถ่ายทอดตอกย้ำตามสื่อต่าง ๆ ทั้งบทเพลง หนังสือ ภาพยนตร์ แม้กระทั่งการ์ตูน ก็ยิ่งทำให้คนในสังคมเชื่ออย่างสนิทใจว่าสิ่งที่ศิลปินนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง แต่ในทางตรงกันข้ามกลับสร้างผล กระทบในเชิงลบต่อชาวอาข่าอย่างมหาศาล โดยเฉพาะการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงอาข่า รวมทั้งผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ถูกเรียกแบบรวม ๆ กันว่า “ชาวเขา” อีกด้วย

อาจู จูเปาะ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเพื่อให้สังคมได้ทำความเข้าใจในข้อเท็จจริง ซึ่งหากสรุปให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ มิดะ ไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมอาข่า แต่มี หมี่ดะ ซึ่งเป็นคำเรียกหญิงสาวธรรมดาอายุ 18-24 ปี ที่ยังไม่ได้แต่งงาน เหมือนที่คนไทยทั่วไปเรียกผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานว่า นางสาว แต่ไม่ได้เป็นชื่อตำแหน่งใด ๆ ส่วนลานสาวกอดก็ไม่มีอยู่จริง แต่มี “ลานวัฒนธรรม” หรือ “แดข่อง” ซึ่งเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นลานประเพณีที่ชาวอาข่าจะมาร่วมกันร้องเพลงเต้นรำซึมซับวิถีแห่งวัฒนธรรมอาข่า และที่สำคัญเป็นแหล่งถ่ายทอดบูรณาการความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ดังนั้น มิดะและลานสาวกอด จึงเป็นเพียงจินตนาการของผู้เขียนสารคดีและบทเพลงเท่านั้น

ใบหน้าเปื้อนรอยน้ำตาของ แสงระวี จูเปาะ หญิงสาวอาข่าผู้ทำหน้าที่ดำเนินรายการบนเวที บ่งบอกถึงความอัดอั้นในใจที่ได้มีโอกาสระบายออกมา เมื่อตระหนักว่าศักดิ์ศรีของผู้หญิงอาข่ากำลังจะได้รับคืนกลับมา รวมทั้งสังคมโลกจะได้รับรู้ความจริงในอารยธรรมของชนเผ่าอาข่าที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับมนุษย์ชาติพันธุ์อื่น ๆ บนโลกใบนี้เช่นกัน

บทเพลงหมี่ดะ โดยศิลปิน ลีมา อยู่ลือ และมี ณฐมล ทองถิ่น เป็นผู้แต่งถูกนำมาขับกล่อม “ บนฟ้าที่มีเมฆลอย บนดอยดินแดนอาข่า เรื่องราวหลังพงพนา ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม เป็นตำนานให้คนจดจำ ทั้ง ๆ ที่มันไม่เคยมีจริง สาวน้อยชาวอาข่า พวกเราเรียกว่า หมี่ดะ

เธอคงอยากอธิบายเรื่องราวร้าย ๆ น่าอายเหลือเกิน จากบทเพลงที่ฟังเพลิน ๆ เหมือนผลักเธอเดินสู่ความมืดมน
สาวสวยเป็นหมันเป็นหม้าย ทอดกายถ่ายทอดตำราวิชาโลกีย์ อยากบอกความจริงให้รู้เสียทีว่า ไม่เคยมีขอให้เข้าใจ
เรื่องราวหลังดงพงไพรใครจะรู้ดี กว่าคนอาข่า หมี่ดะไร้เดียงสา เล่นโล้ชิงช้าบนดอยสูง
ร่ายรำดั่งฝูงนกยูง มือจูงล้อมวงหลังดงดินแดน เป็นตัวแทนของความสดใส ขอเพียงเข้าใจในความเป็นจริง”

นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ย้ำว่า นโยบายการทำงานของวธ.มุ่งส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะเราต้องเคารพในสิทธิของแต่ละชาติพันธุ์ หากมีการกระทำต่อความคิด ความเชื่อที่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนำมาให้รู้สึกว่าถูกกระทำก็ต้องเปิดพื้นที่สื่อสารผ่านสื่อสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเกิดการยอมรับในสิทธิความเป็นมนุษย์ และสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งกรณีมิดะนั้น ศิลปินอาจสื่อจากข้อมูลที่มีในขณะนั้น เราก็ต้องช่วยให้อาข่าได้มีเวทีที่จะชี้แจงกับสังคม ในฐานะของผู้ถูกกระทำ

“สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นความงดงาม ซึ่งความหลากหลายสามารถเห็นได้จากสิ่งต่าง ๆ เช่น การแต่งกาย ภาษา หรือแม้แต่การแสดงออกทางใบหน้าก็ทำให้รู้ถึงความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ได้ ดังนั้นเราต้องให้การเคารพ และช่วยกันอนุรักษ์ ผนึกกำลังช่วยกันทุกฝ่ายเพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง เหมือนคลื่นสึนามิ ที่มาลูกแล้วลูกเล่าจึงจะเปลี่ยนทัศนคติของคนได้ อย่างน้อยให้โอกาสเพลงหมี่ดะ ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาแก้ไขความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาข่าได้เผยแพร่ออกไปให้มากที่สุดก็จะช่วยให้สังคมเข้าใจความเป็นอาข่าอย่างถูกต้องมากขึ้น” ปลัดวธ.กล่าว

อ.ปนัดดา บุณยสาระนัย นักวิจัยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เคยออกเอกสารวิชาการ มีข้อความที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า จากการสนทนากับชาวอาข่าเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่พวกเขาเห็นว่า “…ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะในสมัยแรก ๆ ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาสื่อสารกันอยู่มาก เวลานักวิจัยเข้าไปเก็บข้อมูล คนที่พอจะพูดภาษาไทยได้บ้างก็ไม่ค่อยมี คนที่พูดได้มักจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความรู้แต่พูดติดต่อกันภายนอกเก่ง แล้วนักร้องเขาก็เอาข้อมูลจากนักวิจัยไปใช้อีกต่อหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรจะไปโทษใคร แต่ปัจจุบันนี้เรา คุยกันรู้เรื่องเกือบหมดแล้ว อะไรที่ผิดพลาดไปก็น่าจะมาช่วยกันแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องได้”

ก็สอดคล้องกับแนวคิดของ จิรวรรณ สรรพมิตร และ ลัดดา ดิลกเลิศ 2 สาวน้อยชาวอาข่าวัย 14 ปี ที่พูดตรงกันว่า เสียใจกับภาพลบเหล่านั้นมาตลอด แต่คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมัวเสียเวลาหาว่าเป็นความผิดของใคร แต่ทุกฝ่ายน่าจะช่วยกันรณรงค์ให้สังคมภายนอกได้มีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวอาข่าจะดีกว่า

มาถึงวันนี้ความคับแค้นใจของชาวอาข่าคงเริ่มได้รับการเยียวยาจากสังคมไทย แต่จะจริงจังเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคน อย่างน้อยเราก็ควรตระหนักว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าชาติพันธุ์ใดล้วนมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ใจเขาใจเราคงไม่ต้องบอกกัน.

พลพิบูล เพ็งแจ่ม



เข้าชม : 2628


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      การอ่านเพื่อชีวิต 15 / พ.ย. / 2555
      การก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนปฏิรูปที่ดิน ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง 5 / ส.ค. / 2554
      เยาวชนภาคใต้ ร่วมสืบสานพระราชดำริ 22 / เม.ย. / 2554
      \\\'มิดะ\\\'ภาพลบที่\\\'อาข่า\\\' 29 / มี.ค. / 2554
      เลี้ยงไก่ไข่ด้วยอีแวป...ทำไบโอแก๊สลดค่าใช้จ่าย 3 / ธ.ค. / 2551




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้ [กด F5 ถ้ารหัสไม่ชัดเจน]
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ mocyc@hotmail.com เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
สตูล   สงบสะอาด   ธรรมชาติบริสุทธิ์
สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดสตูล
168 หมู่ที่ 6  ตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล 91000 โทรศัพท์ : 074-711449
โทรสาร : 074-721413            E-mail : stn_it@dole.go.th     
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05